‘ซูเปอร์โพล’ เผยโควิด-19 ทำคนเครียด ‘รายได้หด-ตกงาน’

‘ซูเปอร์โพล’ เผยโควิด-19 ทำคนเครียด ‘รายได้หด-ตกงาน’

“ซูเปอร์โพล” ชี้โควิด-19 ทำคนเครียด เหตุรายได้หด-ตกงาน ขณะที่ 91.7% ต้องการให้ฝ่ายการเมืองช่วยลดภาระรายจ่ายลงอีก

เมื่อวันที่ 19 เม.ย.63 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจด้วยวิธีผสมผสาน (Mixed Method) ทั้งในและนอกโลกโซเชียลมีเดีย เรื่อง คนเครียด โควิด-19 โดยศึกษาจากประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ รวม 1,012 ตัวอย่าง พบประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 74.8 รับรู้ว่าคนไทยเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 น้อยกว่าประเทศอื่น รองลงมาร้อยละ 25.2 ระบุว่า คนไทยเสียชีวินไม่น้อยกว่าประเทศอื่น

เมื่อถามถึงสิ่งที่พบเห็นในช่วงที่เกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 73.2 เห็นระบบสาธารณสุขของประเทศไทยเข้มแข็ง ทำให้ทุกภาคส่วนตื่นตัวดูแลสุขภาพกันมากขึ้น รองลงมาร้อยละ 23.8 ระบุว่าปานกลาง ส่วนประชาชนร้อยละ 3.0 ระบุว่าน้อยมาก

นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 62.3 ระบุว่า เห็นคนไทยช่วยเหลือดูแลกันเองโดยเฉพาะคนรายได้ปานกลางถึงระดับล่าง มีความเห็นอกเห็นใจกัน รองลงมาร้อยละ 33.6 ระบุว่า ปานกลาง และร้อยละ 4.1 ระบุว่าน้อยมา

เมื่อถามถึงผลกระทบช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 66.2 ระบุว่า รายได้ลดลง รองลงมาร้อยละ 28.3 ระบุว่า เหมือนเดิม มีเพียงร้อยละ 5.5 ระบุเพิ่มว่ามีรายได้ขึ้น

ที่น่าห่วงอย่างยิ่ง คือ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 67.5 ระบุว่า มีความเครียดเพิ่มขึ้น รองลงมาร้อยละ 30.5 ระบุว่า เหมือนเดิม ขณะที่ประชาชนร้อยละ 2.0 ระบุว่า ความเครียดลดลง

เมื่อถามถึงสิ่งที่ต้องการจากฝ่ายการเมือง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 91.7 ต้องการให้ฝ่ายการเมืองช่วยลดภาระรายจ่ายลงอีก รองลงมาร้อยละ 8.3 ระบุว่า เพียงพอแล้ว นอกจากนี้ยังพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 90.3 ต้องการให้ช่วยจ้างงาน และช่วยคนตกงานให้มากขึ้น ขณะที่ประชาชนร้อยละ 9.7 ระบุว่า พอใจแล้ว

ที่น่าพิจารณาเพิ่มเติม คือ เมื่อศึกษาถึงแนวโน้มเกี่ยวกับจุดยืนทางการเมืองตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.2562 มาจนถึงวันที่นายกรัฐมนตรี ขอให้มหาเศรษฐี ช่วยแก้ปัญหาวิกฤตไวรัสโควิด-19 พบว่า กลุ่มคนที่สนับสนุนรัฐบาลลดลงจากร้อยละ 41.2 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 36.2 ส่วนกลุ่มคนที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลลดลงเช่นกัน จากร้อยละ 31.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 26.6 ขณะที่กลุ่มพลังเงียบสนับสนุนรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 27.7 มาอยู่ที่ร้อยละ 37.2

158728763853

ผอ.ซูเปอร์โพล ให้ความเห็นโดยอ้างอิงจากผลสำรวจ ว่า สาเหตุที่ประชาชนมีความเครียดเกิดจากปัจจัย 2 ส่วน คือ 1.รายได้ลดลง, ตกงาน และรายจ่ายเพิ่ม 2.การอยู่บ้านกักตัว, ข่าวลือ, ข้อมูลลวง และความแตกแยกทางการเมือง ทำให้คนไทยมีความเครียดเพิ่มสูงขึ้น

ดังนั้น การแก้ไขส่วนที่ 1 ควรใช้ “แนวเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” อัดฉีดเงินเข้าสู่ 3 ช่องทาง คือ อัดฉีดเงินโดยตรงให้กับประชาชนกว่า 20 ล้านที่ขึ้นทะเบียนขอรับเงินเยียวยา โดยจะให้มากหรือให้น้อย อยู่ที่การพิจารณา แต่เชื่อว่าทุกคนจะไม่ผิดหวัง

ช่องทางที่ 2 คือ อัดฉีดเงินไปที่วิสาหกิจชุมชนกว่า 8 หมื่นชุมชนทั่วประเทศ เพื่อช่วยสร้างงานสร้างอาชีพตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และช่องทางที่ 3 คือ อัดฉีดเงินไปยังผู้ประกอบการธุรกิจที่ขึ้นทะเบียนกระทรวงการคลัง

สำหรับแนวทางการแก้ไขในส่วนที่ 2 คือ เสนอให้จัดตั้ง “กลุ่มเพื่อนทางไกล” เพื่อช่วยบรรเทาความเครียดของประชาชน นำโดยกลุ่มจิตแพทย์และจิตอาสาจากทุกภาคส่วน ให้เข้าถึงประชาชนระดับปัจเจกบุคคลและครัวเรือนเพื่อช่วยเหลือเยียวยาทางด้านจิตใจ

หากผล X-Ray คัดกรอง พบว่าประชาชนกำลังเดือดร้อนต้องการรับการรักษาเยียวยาด้านวัตถุและเหตุปัจจัยอื่น ควรให้คณะบุคคลซึ่งเป็นตัวแทนลงพื้นที่เคาะประตูบ้าน ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง ที่สำคัญ คือ หากรัฐบาลจับมือฝ่ายค้านทำงานร่วมกันโดยไม่แบ่งแยก จะช่วยให้คนทั้งประเทศฝ่าฟันวิกฤตไวรัสโควิด-19 ได้อย่างสัมฤทธิผลในอนาคต