ชื่นชม'งดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์' สงกรานต์ปีนี้อุบัติเหตุลดลง

ชื่นชม'งดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์' สงกรานต์ปีนี้อุบัติเหตุลดลง

กรมควบคุมโรค ชื่นชมมาตรการงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้สงกรานต์ปีนี้อุบัติเหตุลดลงอย่างชัดเจน และขอให้ประชาชนลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อไป

นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวแสดงความชื่นชมประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลเป็นอย่างดี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รัฐบาลประกาศคำสั่งงดจัดงานสงกรานต์และมีมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อลดความเสี่ยงของประชาชนในการสัมผัสเชื้อโควิด-19 พร้อมขอให้ประชาชนอยู่บ้านเพื่อลดการติดเชื้อ โดยจากมาตรการดังกล่าว ประชาชนให้ร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการเป็นอย่างดี ส่งผลให้ปีนี้ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลงเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังพบว่าหลังจากที่มีประกาศงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้การเกิดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลมีผู้ดื่มแล้วขับที่เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งลดลงมากเช่นกัน โดยข้อมูลจากโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (ระบบรายงาน PHER Accident) เฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ 7 วัน (วันที่ 10–16 เม.ย. 63) พบว่าผู้ขับขี่ที่มีการดื่มแล้วขับในภาพรวมลดลงเกินครึ่ง จากในปี 62 พบ 35.16% ในปี 63 นี้ลดลงเหลือ 16.09% ซึ่งในกลุ่มอายุน้อยกว่า 20 ปี พบผู้ขับขี่ที่มีการดื่มแล้วขับลดลงจาก 20.99% เหลือ 5.80% และในกลุ่มอายุ 20 ปีขึ้นไป ลดลงจาก 40.26% เหลือ 18.67%

         

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคเป็นกังวลว่าประชาชนที่ติดสุราจะเกิดภาวะถอนพิษสุราดังที่เป็นข่าว แต่ส่วนใหญ่มีอาการถอนพิษสุราหลังหยุดดื่ม 2–3 วัน อาการมีตั้งแต่มือสั่น หงุดหงิด ถึงประสาทหลอนและชักเกร็งแต่สามารถควบคุมได้ด้วยยา ซึ่งโดยทั่วไปการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลดีต่อการเลิกดื่ม แต่ในผู้ติดสุราจะมีอันตรายในช่วง 3–4 วันแรกที่ไม่ได้ดื่ม จากนั้นจะสามารถเลิกได้ ส่วนผู้ที่ดื่มน้อยหรือนานๆ ดื่ม จะสามารถเลิกได้เช่นกัน ทั้งนี้ ประชาชนสามารถโทรปรึกษาได้ที่ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา 1413 สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือสายด่วนยาเสพติด 1165

           

นายแพทย์ขจรศักดิ์ กล่าวในตอนท้ายว่า ขอส่งเสริมประชาชนให้ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อเนื่องจนถึงช่วงเข้าพรรษาและนำไปสู่การงดเหล้าตลอดชีวิต เพราะนอกจากจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นแล้ว ยังเป็นการเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง ไม่เสี่ยงเกิดโรคจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีกว่า 200 โรค ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ความจำเสื่อม ซึมเศร้า โรคมะเร็งในส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น มะเร็งตับ มะเร็งระบบทางเดินอาหาร โรคหลอดเลือดและหัวใจ เป็นต้น อีกทั้งยังลดภาระงานของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล จากปัญหาและผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกด้วย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422