MOB FROM HOME 10 ปีสลาย นปช. 'ก้าวหน้า' ท้าชน
ครบรอบหนึ่งทศวรรษ สำหรับเหตุการณ์สลายการชุมนุม ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พอดี ซึ่งวันที่ 19 พฤษภาคมนั้น
ถือเป็นวันเสียงปืนแตกในความคิดของกลุ่มเสื้อแดงก็ว่าได้ เนื่องจากเป็นวันที่ทหารได้เคลื่อนกำลังพล เข้าสลายการชุมนุมใจกลาง กทม. เมื่อปี 2553
จึงไม่แปลก ที่ปีนี้จะมีความสำคัญมากเป็นพิเศษ
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มคนเสื้อแดงและผู้สนับสนุน จะจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการปลุกความทรงจำว่า “ที่นี่มีคนตาย” ด้วยการนำสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการชุมนุมในอดีต มาประดับบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นใจกลางของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
รูปแบบของกิจกรรมคนเสื้อแดง เป็นลักษณะนี้มาตลอด 9 ปี โดยสลับกับการจัดการปราศรัย เพื่อเป็นกิจกรรมที่ทำให้มวลชนได้มาพบกัน จนกระทั่งมาถึงปีที่ 10 ซึ่งเป็นที่สำคัญ และมีความตั้งใจว่า จะงานรำลึกให้ยิ่งใหญ่กว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยเน้นถึงเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิต
ทว่า กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเจ้าภาพหลักอย่างแกนนำ นปช.ที่เคยร่วมชุมนุมในเวลานั้น กลับเปลี่ยนรูปแบบของกิจกรรมที่เคยเป็น “เชิงรุก” มาเป็น “เชิงรับ” อย่างสิ้นเชิง
โดยเมื่อไม่นานมานี้ ‘จตุพร พรหมพันธุ์’ ประธาน นปช. บอกผ่านทางเฟซบุ๊คว่า มีเพียงการทำบุญเท่านั้น
“ครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุม ”พฤษภา 53“ ร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ วีรชนเมษา-พฤษภา 53 วันที่ 19 พฤษภาคม 2563 เวลา 07.00 น. ณ วัดนวลจันทร์” ข้อความในเฟซบุ๊คของจตุพรที่สื่อสารกับมวลชน
นับเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงเรี่ยวแรงที่อ่อนลงไปทุกทีของแกนนำ นปช. เพราะตลอดทศวรรษนับตั้งแต่เหตุการณ์ที่ราชประสงค์ บรรดาแกนนำส่วนใหญ่เผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองอย่างหนัก โดยเฉพาะคดีความที่มีติดตัวกันคนละไม่น้อย รวมไปถึงการเข้ามาคุมอำนาจของ คสช.กว่า 5 ปี ที่มีการตัดท่อน้ำเลี้ยงของเสื้อแดง อย่างไล่ปิด ‘พีชทีวี’ ซึ่งเป็นสื่อหลักของกลุ่มคนเสื้อแดงหลายครั้ง ประกอบกับ การใช้กลไกรัฐปูพรมเพื่อแยกมวลชนเสื้อแดงออกมา
ด้วยเหตุนี้เอง ที่ส่งผลให้ในระยะหลังไม่ค่อยเห็นกิจกรรมของกลุ่มคนเสื้อแดงมากนัก นอกจากการจัดรายการทีวีของแกนนำเท่านั้น
ท่ามกลางความอ่อนแรงของแกนนำเสื้อแดงนั้น สวนทางกับ “คณะก้าวหน้า” อย่างสิ้นเชิง ทั้งที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เมื่อปี 2553
คณะก้าวหน้า นำโดย ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และ ‘พรรณิการ์ วานิช’ อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ออกมาปลุกกระแสผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เริ่มตั้งแต่การฉายแสงเลเซอร์ข้อความ “ตามหาความจริง” ไปยังสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ พร้อมกับประกาศว่า “หนังม้วนเดิม ที่ตอนจบจะต้องไม่เป็นแบบเดิม”
ท่วงท่า และท่าทีของคณะก้าวหน้าเวลานี้ หากจะเรียก แบ่งบทบาทกันเล่นก็ว่าได้ โดย ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เดินหน้าให้ความเห็นต่อประเด็นทางเศรษฐกิจ และสถานะของการบินไทย รวมไปถึงการประสานให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ในช่วงโควิด-19
ขณะที่ ‘ปิยบุตร-ช่อ’ เปิดหน้า “บู๊ทางการเมือง” ชัดเจน ด้วยการพยายามเอากระแสเหตุการณ์ทางการเมืองในเดือนพฤษภาคมมาเร้าความรู้สึกของประชาชน
หากไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีความเป็นไปได้ไม่น้อย ที่จะได้เห็นการชุมนุมทางการเมืองอีกครั้ง ตามคำประกาศกลางแฟลชม็อบเมื่อปลายปีที่ผ่านมาว่า “เจอกันใหม่ปีหน้า (2563)” เพราะกระแสของม็อบนักศึกษาที่ก่อ เริ่มคุกรุ่นได้ที่ นับตั้งแต่เกิดการยุบพรรคอนาคตใหม่
แต่เมื่อจังหวะและสถานการณ์ไม่เป็นใจ ทำให้คณะก้าวหน้าต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ด้วยพยายามเล่นกับกระแสในโลกออนไลน์แทน จนก่อให้เกิดกระแสที่เรียกว่า “MOB FROM HOME”
มาเวลานี้ สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย และเหมือนจังหวะจะเป็นใจ ทำให้กิจกรรมของคณะก้าวหน้าได้รับความสนใจมากขึ้น ซึ่งในวันที่ 19 พ.ค.2563 คณะก้าวหน้าประกาศว่า จะมีกิจกรรมเสวนา “จาก The Look of Silence ถึงความเงียบแห่งเดือนพฤษภาคม” โดย พวงทอง ภวัครพันธุ์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และแขกรับเชิญพิเศษเหนือความคาดหมาย
โดยหลายฝ่ายจับตามองว่า “แขกรับเชิญพิเศษเหนือความคาดหมาย” ที่ว่านั้น คือ ใคร ซึ่งอาจจะมีผลให้กิจกรรมของคณะก้าวหน้าในระยะยาวมีพลังมากขึ้น จากเดิมที่ยังไม่ปังมากนัก เนื่องจากสังคมให้ความสนใจกับสถานการณ์โควิด-19 มากกว่าการเมือง
“19 พฤษภาคม” อาจไม่เพียงแต่เป็นวันครบรอบเหตุการณ์ของ “คนเสื้อแดง” เท่านั้น แต่เป็นการประกาศเริ่มต้นการต่อสู้บทใหม่ของ “คณะก้าวหน้า” ก็เป็นไปได้