เปิดขั้นตอนกฎหมายล้มละลาย ยื่นฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ในศาลไทย- อเมริกา
“สื่อศาล” เปิดขั้นตอนกฎหมายล้มละลายการยื่นฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ในศาลไทย-อเมริกา
เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานประเด็นเรื่องการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ในกรณีของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นั้น เพจในเฟซบุ๊ก ”สื่อศาล” ซึ่งเป็นเพจที่ให้ข้อมูลข่าวสารของศาลยุติธรรมไปยังบุคลากรในองค์กรและสังคม ได้เผยบทความข้อกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไทยเเละสหรัฐอเมริกาซึ่งเขียนโดย ดร.กนก จุลมนต์ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา และรองเลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายเนติบัณฑิตยสภา มีข้อความว่า
ประเด็นที่น่าสนใจ: กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ของไทยและสหรัฐอเมริกา
1. คำถาม: ทำไมการยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทลูกหนี้ในประเทศไทยจึงอาจไม่เพียงพอต่อการระงับการบังคับชำระหนี้จากเจ้าหนี้?
คำตอบ: เนื่องจากภายหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณาตามมาตรา 90/9 จะเกิดสภาวะพักการชำระหนี้หรือสภาวะหยุดนิ่ง (automatic stay หรือ moratorium) ซึ่งมีขอบเขตและรายละเอียดตามมาตรา 90/12 ซึ่งมีเนื้อหาหลักๆ คือ ห้ามเจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่ง ห้ามมิให้เจ้าหนี้เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ห้ามเจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย ในกรณีที่มีการฟ้องคดีหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดไว้ก่อนแล้ว ให้งดการพิจารณาไว้ ห้ามมิให้เจ้าหนี้มีประกันบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันเว้นแต่เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย เป็นต้น
สภาวะพักการชำระหนี้ดังกล่าว มีผลเฉพาะทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้ในประเทศไทยเท่านั้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 177 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามหลักดินแดน (territorialism) ดังนั้น เจ้าหนี้จะเป็นเจ้าหนี้ไทยหรือเจ้าหนี้ต่างประเทศยังสามารถดำเนินการฟ้องร้องและหรือบังคับคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้ไทยที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศได้ เพราะผลตามกฎหมายไทยไม่ได้มีผลคุ้มครองไปถึงทรัพย์สินที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ
2. คำถาม: บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยไปยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการในประเทศสหรัฐอเมริกาได้หรือไม่?
คำตอบ: เงื่อนไขในการยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการในสหรัฐอเมริกา ไม่ได้คำนึงถึงสัญชาติของลูกหนี้ คงพิจารณาจากจุดเกาะเกี่ยวหรือจุดเกี่ยวพันกับประเทศสหรัฐอเมริกาว่า ลูกหนี้พักอาศัยหรือมีภูมิลำเนาหรือมีสถานประกอบธุรกิจหรือมีทรัพย์สินอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือไม่ ตามกฎหมายล้มละลายของสหรัฐอเมริกา (US Bankruptcy Code) มาตรา 109 ซึ่งประเด็นจุดเกาะเกี่ยวเรื่องทรัพย์สิน ในคดีที่ผ่านๆ มา ศาลสหรัฐอเมริกาแปลความอย่างกว้างว่า แค่มีเงินในบัญชีเงินฝากที่สหรัฐอเมริกาก็ถือว่า มีทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกาแล้ว เพราะฉะนั้น หากบริษัทลูกหนี้มีทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกาแล้ว ก็ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการได้ แต่หากไม่มี ก็สามารถเปิดบัญชีเงินฝากและฝากเงิน ก็ถือว่ามีจุดเกาะเกี่ยวเรื่องทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกา และสามารถยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการในสหรัฐอเมริกาได้
3. คำถาม: การยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการในประเทศสหรัฐอเมริกาสำคัญอย่างไร?
คำตอบ: การยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการในสหรัฐอเมริกาก็จะเกิดสภาวะพักการชำระหนี้แก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ในสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก การที่จะก่อให้เกิดสภาวะพักการชำระหนี้แก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ในประเทศอื่นๆ นอกสหรัฐอเมริกา ต้องใช้กระบวนพิจารณาในส่วนที่เรียกว่า การล้มละลายหรือการฟื้นฟูกิจการข้ามชาติ ในหมวด 15 (Chapter 15) ซึ่งกระบวนการเริ่มจากผู้จัดการทรัพย์สินหรือตัวแทนของคดีฟื้นฟูกิจการที่สหรัฐอเมริกาไปยื่นคำร้องขอให้ประเทศต่างๆ ที่บริษัทลูกหนี้มีทรัพย์สินตั้งอยู่รับรองว่ามีกระบวนการฟื้นฟูกิจการเกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาแล้ว ขอให้เกิดสภาวะพักการชำระหนี้ในประเทศนั้นๆ ด้วย เหตุที่ผู้จัดการทรัพย์สินของสหรัฐอเมริกาสามารถกระทำดังกล่าวได้เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกามีการอนุวัติกฎหมายแม่แบบว่าด้วยการล้มละลายข้ามชาติของคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (UNCITRAL) เป็นกฎหมายภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ศาลของประเทศผู้ถูกร้องขอจะรับรองกระบวนการฟื้นฟูกิจการในสหรัฐอเมริกาและก่อให้เกิดสภาวะพักการชำระหนี้ตามที่ผู้แทนจากสหรัฐอเมริการ้องขอหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับกฎหมายล้มละลายภายในประเทศนั้นๆ ด้วย
แท้จริงแล้ว หากหวังผลเฉพาะในส่วนบทบัญญัติเรื่องการล้มละลายหรือการฟื้นฟูกิจการข้ามชาติ ไม่จำเป็นเสมอไปว่าต้องไปยื่นที่สหรัฐอเมริกาเนื่องจากมีประเทศหรือรัฐกว่า 40 ประเทศ ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายล้มละลายของตนเองให้มีในส่วนของการล้มละลายหรือฟื้นฟูกิจการข้ามชาติด้วย เช่น สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี เป็นต้น
อนึ่ง ในส่วนของประเทศไทยยังไม่มีการอนุวัติกฎหมายล้มละลายข้ามชาติเข้าเป็นกฎหมายภายใน แม้คณะรัฐมนตรีจะรับหลักการในเรื่องนี้ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2559 แล้วก็ตาม
4. สรุปกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามหมวด 11 แห่งกฎหมายล้มละลายของสหรัฐอเมริกา (Chapter 11 Reorganization of the US Bankruptcy Code)
4.1 การเริ่มกระบวนพิจารณา: โดยการยื่นคำร้องขอโดยลูกหนี้หรือเจ้าหนี้เป็นผู้ยื่นคำร้องขอก็ได้ คดีส่วนใหญ่ลูกหนี้เป็นผู้ยื่นคำร้องขอ
4.2 หากลูกหนี้เป็นผู้ยื่นคำร้องขอจะเป็นไปตามเงื่อนไขในมาตรา 301 ซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์ว่าลูกหนี้ต้องมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้ ขอเพียงแค่ลูกหนี้มีหนี้ และไม่มีหลักเกณฑ์เรื่องจำนวนหนี้ขั้นต่ำ หมายความว่ามีหนี้เป็นจำนวนเท่าใดก็ได้
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ ลูกหนี้ที่ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการมักมีปัญหาเรื่องกระแสเงินสดไม่พอชำระหนี้หรือมีทรัพย์สินไม่พอกับหนี้สิน เพราะเงื่อนไขข้อหนึ่งในการที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่คือ การที่ผู้ร้องขอต้องยื่นคำร้องขอโดยสุจริตตามมาตรา 1129 (a)(3)
4.3 คดีเริ่มต้นเมื่อศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอ ผลประการหนึ่งคือ จะเกิด an order for relief (ถ้าแปลตรงตัวจะแปลว่า คำสั่งที่ช่วยบรรเทาลูกหนี้จากภาระหนี้ที่มีทั้งหมด หากแปลเทียบเคียงกับกฎหมายไทยคือ คำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ) ผลอีกประการหนึ่งคือ เกิดสภาวะพักการชำระหนี้ตามมาตรา 362 ซึ่งมีเนื้อหาเทียบเคียงได้กับมาตรา 90/12 ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ)
4.4. การยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ ผู้ร้องขอจะยื่นแผนฟื้นฟูกิจการมาพร้อมคำร้องขอก็ได้ ตามมาตรา 1121(a) ซึ่งกรณีนี้จะช่วยให้กระบวนการเร็วขึ้น หรือผู้ร้องขอจะค่อยมาจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการภายหลังคดีเริ่มต้นแล้วก็ได้ โดยกฎหมายให้โอกาสลูกหนี้เป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูก่อนในช่วง 120 วันแรกนับจากวันเริ่มต้นคดี ตามมาตรา 1121 (b) ภายหลังจากนั้น หากลูกหนี้ยังไม่ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการ ผู้มีส่วนได้เสียคนอื่นๆ โดยส่วนใหญ่คือ เจ้าหนี้ มีสิทธิที่จะยื่นแผนฟื้นฟูกิจการให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาได้
4.5 หลักเกณฑ์ที่ศาลใช้พิจารณาว่าจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ เป็นไปตามมาตรา 1129 เงื่อนไขสำคัญ ได้แก่ เจ้าหนี้แต่ละกลุ่มยอมรับแผนตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 1126 เจ้าหนี้แต่ละรายได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่าสัดส่วนที่จะได้รับชำระหนี้หากลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย การยื่นคำร้องขอเป็นไปโดยสุจริต ภายหลังศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้วลูกหนี้มีแนวโน้มที่จะไม่ล้มละลายหรือไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการอีกเว้นแต่เป็นกรณีที่ระบุไว้ในแผน เป็นต้น
ข้อสังเกตเกี่ยวกับระยะเวลาดำเนินการตามแผนตามมาตรา 1123 คือ กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ว่าเป็นระยะเวลาเท่าใด แล้วแต่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ตกลงกัน แต่ตามกฎหมายไทยตามมาตรา 90/42 (9) กำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนไว้ไม่เกิน 5 ปี ระยะเวลาดำเนินการตามแผนขยายได้อีกไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี ตามมาตรา 90/63 วรรคสอง อนึ่ง ระยะเวลาชำระหนี้จริงอาจยาวกว่าระยะเวลาดำเนินการตามแผนได้ ระยะเวลาดำเนินการตามแผนคือ ระยะเวลาที่บริษัทลูกหนี้ต้องบริหารกิจการภายใต้การกำกับของศาลล้มละลายกลางและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ สังกัดสำนักฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี กระทรวงยุติรรม
4.6 เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนตามมาตรา 1129 ถือเป็นวันที่คดีฟื้นฟูกิจการสิ้นสุดไปจากศาลเลย เพราะลูกหนี้จะหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนตามมาตรา 1141 (d)(1)(A) โดยบริษัทลูกหนี้และเจ้าหนี้ต้องผูกมัดตามแผนและลูกหนี้มีหน้าที่ต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่ระบุไว้ในแผนนอกศาล
ตรงนี้เป็นจุดที่เป็นประโยชน์อีกจุดหนึ่งของการยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเนื่องจากระยะเวลาภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการจะสั้นกว่าของไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากตามกฎหมายไทย เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว บริษัทลูกหนี้ยังต้องดำเนินการตามแผนภายในระยะเวลาดำเนินการตามแผนซึ่งไม่เกิน 5 ปี เว้นแต่มีการขยาย ให้แล้วเสร็จหรือไม่แล้วเสร็จ เมื่อศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/75 จึงทำให้คดีฟื้นฟูกิจการสิ้นสุดลง