ปฏิรูปการเมือง-ลดขัดแย้ง 6 ปีที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง!
การรัฐประหาร เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ภายใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยสำคัญ คือ ยุติความขัดแย้งทางการเมือง และการปฏิรูปประเทศ
แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ผ่านไป 6 ปี ความสำเร็จของเป้าหมายทั้ง 2 แบบนั้น พิสูจน์เชิงประจักษ์ว่า เป็นแค่การจินตนาการ
เพราะแม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กติกาสูงสุดของประเทศ กำหนดเป็นแม่บทไว้ในหมวดปฏิรูป พร้อมวางเป้าหมายให้ทำให้สำเร็จ ทั้งด้านการสร้างความสงบเรียบร้อยในประเทศ คนในชาติมีความสามัคคีปรองดอง และประเทศพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงประชาชน และ สังคมสงบสุข ขจัดความเหลื่อมล้ำ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไทย ตามมาตรา 257 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนด
พร้อมทั้งกำหนดการปฏิรูปด้านต่างๆ ไว้ 7 ด้าน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การปฏิรูปด้านการเมือง
จุดเริ่มต้นของการบัญญัติให้ปฏิรูปการเมืองในรัฐธรรมนูญ ทั้งที่การขับเคลื่อนปฏิรูปมีหลายด้าน เพราะปฏิเสธได้ยากว่า ความวุ่นวายและจุดเริ่มต้นของการยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นั้น มาจาก “การเมือง”
หากย้อนดูตั้งแต่ปี 2557 การปฏิรูปด้านการเมือง ถูกขับเคลื่อนถึง 2 รอบ ทั้งภายใต้ของ “สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)” และ "สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)” ในรอบแรก มี “ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” เป็นประธาน ส่วนรอบสอง มี “เสรี สุวรรณภานนท์”เป็นประธาน
ในรูปแบบของการขับเคลื่อนงานปฏิรูปที่ถูกออกแบบไว้ มีส่วนที่คล้ายกัน คือ การแก้การเมืองที่ถูกผูกขาดโดยคนที่มีเสียงข้างมากในรัฐสภา - รัฐบาล รวมถึงสร้างการรับรู้ ความเข้าใจต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้กับประชาชนฐานราก และคำนึงถึงสิทธิของประชาชนต่อการมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตยในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่จำกัดเฉพาะ “วันหย่อนบัตรเลือกตั้ง”
สูตรที่นำไปเป็นจุดแก้ไขนั้น ถูกออกแบบไว้ในกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ แต่ผลลัพธ์ที่ได้
คนที่คลุกคลีในวงการงานปฏิรูป และแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่าง “ดิเรก ถึงฝั่ง” อดีตรองประธาน กรรมาธิการปฏิรูปด้านการเมือง สปช.” และ อดีตประธานกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มองว่า การปฏิรูปไม่เคยเกิดขึ้นจริง
แม้การปฏิรูปด้านการเมือง จะกำหนดไว้ใน รัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง การเลือกตั้ง แต่การนำไปปฏิบัติไม่เคยเกิดขึ้น
“หัวใจของการปฏิรูปการเมือง คือ การนำไปปฏิบัติ และมีกลไกของรัฐสภา และใช้กลไกของรัฐสภาเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ที่ผ่านมาพบว่าคนที่มีอำนาจมากกว่า ได้สิทธิ์ใช้อำนาจอยู่ฝ่ายเดียว และรัฐสภาไม่ได้เดินอยู่บนกรอบที่ถูกต้อง”
เหตุผลที่ “ดิเรก” มองเช่นนั้น เพราะการออกแบบรัฐธรรมนูญที่ทำไม่ถูกมาตั้งแต่ต้น และรัฐธรรมนูญที่เขียนนั้น ไร้อุดมการณ์ประชาธิปไตย และสอดคล้องกับ มาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
"รัฐธรรมนูญมีบทบังคับ รวมถึงมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปกำหนดไว้ แต่ไม่ถูกนำไปปฏิบัติ เพราะมีอำนาจพิเศษที่แฝงไว้ แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดบทบัญญัติที่สวยหรู แต่พอรัฐบาลไม่ทำ ใครจะกล้าเอาผิดตามกฎหมายได้ แต่การปฏิรูปที่จะสำเร็จได้ หลักการสำคัญที่ต้องยึดมีอยู่ 2 อย่าง คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้กติกาสูงสุดของประเทศที่เป็นไปตามแนวทางของการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และผู้นำต้องกล้ายอมรับในอุดมการณ์ประชาธิปไตย”
หนทางที่จะนำไปสู่ปลายทางได้นั้น “ดิเรก” มองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามวิธีการสากล คืนอำนาจให้ประชาชน
ซึ่งตามข้อเสนอของ สปช. ที่ทำไว้เมื่อปี 2558 ต่อการปฏิรูปการเมือง ส่วนใหญ่เสนอให้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งระบบเลือกตั้ง แบบ One man one vote ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง กำหนดบทตรวจสอบพรรคการเมือง การได้บุคคลเข้าสู่ตำแหน่งบริหาร องค์กรอิสระต้องมีความอิสระ ปราศจากการครอบงำจากฝ่ายต่างๆ ซึ่งบางประเด็น ถูกกำหนดไว้ใน “ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับไม่ผ่านความเห็นชอบจาก สปช.
และต่อมาในยุคของ “สปท.” ที่มี “เสรี สุวรรณภานนท์” รับไม้ต่อ กำหนดแผนปฏิรูปด้านการเมืองไว้ ทั้งระบบเลือกตั้งต้องสุจริตเที่ยงธรรม โดยใช้กลไกความร่วมมือระหว่าง ประชาชน พรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)
โดยหัวใจสำคัญคือ ให้ประชาชนมีสิทธิ์อิสระ ปราศจากการครอบงำจากฝ่ายการเมือง และอำนาจเงินตอนเลือกตั้ง
ขณะเดียวกัน ระบบพรรคการเมืองต้องเปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ขจัดนายทุนพรรค การเมือง รวมถึงการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และต้องมีกลไกควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และแก้ไขความขัดแย้ง รวมถึงการสร้างความปรองดอง
โดยสาระทั้งหมด คือ ต้องอาศัยกลไกจาก ประชาชน-รัฐสภา-องค์กรอิสระ-หน่วยงานราชการ
และ “สปท.การเมือง" ยังได้เสนอให้มี กฎหมายขึ้น ชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย” ให้จัดอยู่ในวาระปฏิรูปเร่งด่วนและสำคัญ และกำหนดเวลาให้ดำเนินการให้ได้ภายในปี 2560
โดยสาระสำคัญ คือ พัฒนาคน ผ่านสภาพัฒนาการเมือง และมีกองทุนการเมืองภาคพลเมือง ซึ่งสภาพัฒนาการเมืองนั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 นั้นถูกตัดออกไป
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณารายละเอียดแล้ว “ข้อเสนอให้ปฏิรูปด้านการเมืองทั้งฉบับ ของ สปช. และ สปท. นั้นยังไม่ถูกนำมาขับเคลื่อน"
โดยเฉพาะการสร้างพัฒนาคนที่ “ดิเรก” มองว่าเป็นหัวใจที่แท้จริงของการปฏิรูปการเมืองให้สำเร็จ
“ประชาธิปไตยต้องให้คนเกิดการเรียนรู้ พัฒนาคน ขณะที่รัฐบาลต้องทำเป็นตัวอย่าง ฐานะเป็นผู้นำ ฐานะเป็นหัวหน้าครอบครัว จุดเปลี่ยนสำคัญจากนี้ ผมมองว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ถูกต้อง ไม่ใช่เป็นฉบับปักเลน โย้ไปเย้มาแบบนี้ และที่สำคัญคือ ต้องสร้างการเมืองให้มีความชอบธรรม กระบวนการยุติธรรมเข้มแข็ง และศาลต้องเที่ยงตรง แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 257-258 พูดถึงการปฏิรูป ทั้งการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน ด้านยุติธรรม ด้านกฎหมาย ด้านการศึกษา แต่ปัจจุบันไม่เห็นว่าจะเดินไปข้างหน้า แถมซ้ำยังทำให้การเมืองย้อนยุค ถอยหลังไปก่อนการรัฐประหาร 57 เสียอีก เพราะไม่ได้ทำให้การเมือง นักการเมืองดีขึ้น ไม่ตรงกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย”
สุดท้าย “อดีต รองประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช.” กล่าวไว้ด้วยว่า “จุดขัดแย้งในอดีต ที่ยังเป็นจุดขัดแย้งในปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญ ดังนั้นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นของคนทุกคน ไม่ใช่ว่าเขียนเพื่อพวกใคร เพราะหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่แก้ที่แก่นซึ่งเป็นหัวใจแล้ว
เชื่อเถอะว่า ความขัดแย้งหรือการปฏิรูปการเมืองที่ เจตนารมณ์ของ คสช. ประกาศไว้ตอนยึดอำนาจปี 2557 สุดท้ายเป็นเพียงสิ่งที่ไม่เคยทำได้จริง และไม่มีทางที่จะแก้ไขความขัดแย้งในประเทศนี้ได้”