เปิด พ.ร.บ. โอนงบ 'กลาโหม' ถูกหั่นสูงสุด 'ศาล-สภา' ไร้ตัวเลข
เปิดร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ กู้วิกฤตโควิด กลาโหมสูงสุด 17,700 ล้าน “ศาล-สภา-อปท.-รัฐวิสาหกิจ 21 แห่ง” ไม่พบตัวเลขโอนเงิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสภาผู้แทนราษฎร ได้บรรจุร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ..... วงเงิน 88,452 ล้านบาทไว้ในระเบียบวาระ ซึ่งต่อจากการพิจารณา 4 พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เบื้องต้นคาดว่าสภาฯ จะเร่ิมพิจารณาได้ในต้นเดือนมิถุนายน
สำหรับรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายฉบับดังกล่าว ซึ่งมาจากงบประมาณ ปี 2563วงเงิน 8.8 หมื่นล้านบาท มีหลักการและเหตุผลคือ เพื่อตั้งไว้เป็นงบประมาณรายจ่าย สำหรับงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ร้องขอให้หน่วยงานโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จัดสรรคืนเพื่อนำไปใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหา เยียวยา ผู้ไดัร้บผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019หลังจากที่การแก้ปัญหาไวรัสโคโรนา และ การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และสาธารณภัยที่ผ่านมาทำให้งบกลางที่จัดสรรไว้ ตามพ.ร.บ.งบฯ 63 จำนวน 9.6 หมื่นล้านบาท นั้นไม่เพียงพอ
สำหรับการจัดสรรเงินคืนของแต่ละหน่วยงานนั้นมีรายละเอียดที่น่าสนใจ คือ รายการงบประมาณของหน่วยงานและแผนงานที่ส่งคืนรัฐบาล ครบทั้งจำนวน 20 กระทรวง โดยเรียงตามลำดับกระทรวงที่โอนคืนงบประมาณ ได้แก่1.กระทรวงกลาโหม จำนวน 17,700 ล้านบาท, 2.กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 4,746 ล้านบาท, 3. กระทรวงคมนาคม จำนวน 3,427 ล้านบาท, 4.กระทรวงมหาดไทย จำนวน 2,957 ล้านบาท, 5.กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 1,356 ล้านบาท
6.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จำนวน 1,254 ล้านบาท, 7.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 1,153 ล้านบาท, 8.สำนักนายรัฐมนตรี จำนวน 1,069 ล้านบาท, 9.กระทรวงการคลัง จำนวน 778 ล้านบาท,10. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 641 ล้านบาท
11.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 571 ล้านบาท, 12.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวม 506 ล้านบาท, 13.กระทรวงยุติธรรม จำนวน 384 ล้านบาท, 14.กระทรวงพาณิชย์ จำนวน 277 ล้านบาท, 15.กระทรวงวัฒนธรรม จำนวน 203 ล้านบาท, 16.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จำนวน 192 ล้านบาท,17. กระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 139 ล้านบาท,18. กระทรวงพลังงาน จำนวน 37 ล้านบาท, 19.กระทรวงแรงงาน จำนวน 22 ล้านบาท และ 20. กระทรวงการต่างประเทศ จำนวน 1.5 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่านอกจากนั้นยังมีการโอนงบประมาณคือของหน่วยงานอื่นๆ ได้แก่ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวงรวม 775 ล้านบาท อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 544 ล้านบาท ในแผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาบริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพของรัฐ, แผนยุทธศาสตร์รักษาความสงบภายในประเทศ
สำนักพระพุทธศาสนา จำนวน177 ล้านบาท, สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง จำนวน 8.8 ล้านบาท,งบของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดจำนวนรวม 2,537 ล้านบาท ,งบจากแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้ง 12 ด้านโอนงบคืนรวมกันทั้งสิ้น 13,047 ล้านบาท และแผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐจำนวน 35,303 ล้านบาท ได้ตัดส่วนของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะออกทั้งหมด
นอกจากนั้น ยังพบว่าในร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณฯไม่ปรากฎรายการโอนงบประมาณคืนงบกลางของหลายหน่วยงาน อาทิรัฐวิสาหกิจ 21 แห่ง, ศาล, องค์กรอิสระ, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 76 จังหวัด, งบบุคลากรของทุกหน่วยงาน และ หน่วยงานของรัฐสภาทั้งฝั่งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
สำหรับงบประมาณของรัฐสภานั้น ก่อนหน้านั้นมีข่าวจากคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา รับทราบการโอนงบคืน จำนวน 93 ล้านบาท เป็นส่วนของงบศึกษาดูงานต่างประเทศ และงบประมาณของข้าราชการแลกเปลี่ยน ขณะที่สำนักงานเลขาธิการสภาฯ แจ้งว่าได้คืนงบให้รัฐบาล 336 ล้านบาท โดยเป็นงบศึกษาดูงานของกรรมาธิการ (กมธ.) และเบี้ยประชุมของกมธ.ฯ เพื่อให้รัฐบาลนำไปแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19.