ฝ่ายค้านซัดพ.ร.ก.เสี่ยง 'ล้มละลาย' นายกฯ-คลังลั่นรอบคอบพยุงเศรษฐกิจ

ฝ่ายค้านซัดพ.ร.ก.เสี่ยง 'ล้มละลาย' นายกฯ-คลังลั่นรอบคอบพยุงเศรษฐกิจ

ฝ่ายค้านรุมชำแหละ พ.ร.ก.กู้เงิน เสี่ยงแปรสภาพ พ.ร.ก.ล้มละลาย-มหาประยุทธ์ภัย จี้ตั้ง กมธ.วิสามัญตรวจสอบ ขณะที่ นายกฯ แจงกลางสภา จำเป็นต้องเยียวยา-พยุงเศรษฐกิจ มีกลไกตรวจสอบ รมว.คลัง ยกเคสอดีตเทียบไม่ต่างกัน

ชำแหละล้มเหลวแก้โควิด

จากนั้นอภิปรายได้เริ่มต้นที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายว่า รัฐบาลบริหารสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ผิดพลาด เพราะแม้จะจัดการสถานการณ์ระบาดได้ แต่ไม่สามารถสร้างสมดุลรวมถึงประคับประคองเศรษฐกิจได้ โดยตนมองว่ารัฐบาลล้มเหลวด้านการเยียวยาและกองกู้เศรษฐกิจ ทั้งนี้การใช้เงินวงเงิน 1ล้านล้านบาท ที่แบ่งการใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชน และ ฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น ต้องชี้แจงรายละเอียดการใช้จ่ายเงิน รวมถึงบุคคลใดจะได้รับประโยชน์ ให้กับ ส.ส.และประชาชนรับทราบด้วย

พรรคฝ่ายค้านไม่ขัดข้องกับการใช้เงินเพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ต้องใช้เงินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช้เพื่อเป็นแหล่งทุนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

หวั่นแปรสภาพพ.ร.ก.ล้มละลาย

เช่นเดียวกับ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า หากถามประชาชนจะเรียกชื่อพ.ร.ก.นี้ว่าเป็น“พ.ร.ก.เราเป็นหนี้ด้วยกัน2020” ยืนยันว่าพรรคเห็นด้วยกับการจัดสรรงบประมาณเพื่อประชาชน แต่ขอตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนที่จะมีการออกพ.ร.ก.กู้เงิน1 ล้านล้านรัฐบาลมีการข้ามขั้นตอนหลายขั้นตอน โดยไม่ดูเงินที่มีอยู่ในกระเป๋า ไม่ทราบว่าตั้งใจจะกู้เงินมาไปโดยมีวัตถุประสงค์แอบแฝงหรือไม่

การออกพ.ร.ก.ดังกล่าวทั้งที่ยังไม่มีแผนรายละเอียดโครงการที่ชัดเจน ซ้ำยังเปิดกรอบให้มีการกู้ยาวไปถึงเดือนก.ย.ปี 2564 แทนที่รัฐบาลจะชะลอโครงการที่ไม่จำเป็นในงบปี63 เช่นการจัดซื้อเรือดำน้ำแล้วเอาเงินดังกล่าวมาเยียวยาประชาชน

“นายกฯและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต้องชี้แจงเรื่องนี้ให้กระจ่างไม่เช่นนั้นเมื่อจบการอภิปรายประชาชนก็อาจเรียกพ.ร.ก.ฉบับนี้ว่าเป็นพ.ร.ก.ล้มละลายในท้ายที่สุด”

ทั้งนี้ยังมีโอกาสที่พวกเราจะให้ความเห็นชอบโดยรัฐบาลจะต้องดำเนินการ 1.สนับสนุนให้ตัวแทนพี่น้องประชาชนมีโอกาสตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณโดนผ่านกมธ.วิสามัญ 2.ต้องรายงานให้สภารับทราบและมีการตรวจสอบร่วมกันทุกๆ2 เดือน 3.มีการออกพ.ร.บ.เพื่อแก้ไขพ.ร.ก.ในส่วนของสาระสำคัญที่มีการใช้งบประมาณที่ไม่เป็นประโยชน์

“ก้าวไกล”อัดมหาประยุทธ์ภัย

ขณะที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศรส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การระบาดของโควิดมาจากความประมาทของรัฐบาล การช่วยเหลือประชาชนกลับไม่มีแนวทางชัดเจน การกู้เงินเพื่อเยียวยานั้นพรรคก้าวไกลเห็นด้วย รัฐบาลสามารถแก้กฎหมายขยายเพดานหนี้สาธารณะได้เหมือนในต่างประเทศ แต่ปัญหาอยู่ที่ฐานคิดของรัฐบาลมากกว่า อีกทั้งมองว่าการจัดทำงบประมาณในช่วงโควิด19ของรัฐบาลขาดยุทธศาสตร์ แทนที่จะวางแผนให้สอดคล้องกับกฎหมายโอนงบประมาณและกฎหมายงบประมาณปี 2564 แต่ปรากฏว่าไม่มีการเกลี่ยก่อนกู้พร้อมกับจะซื้ออาวุธในปี 2564 ต่อไป

“ตัวเลขสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหา คือ อัตราการใช้กำลังการผลิตเหลือ 61.86% ต่ำที่สุดในรอบร้อยเดือน โดยที่ต่ำกว่านี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2554 เมื่อคราวมหาอุทกภัย แต่ครั้งนี้จะหนักกว่าเพราะเจอกับมหาประยุทธ์ภัย ”

นายกย้ำมีกก.ตรวจสอบ

จากนั้นสมาชิกที่ประชุมยังสลับกันลุกขึ้นอภิปรายโดยมุ่งไปที่ประเด็นการใช้งบในโครงการต่างๆที่อาจกลายเป็นเบี้ยหัวแตก รวมถึงการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้งบที่ขาดช่องทางการตรวจสอบ โดยส่วนใหญ่เรียกร้องให้มีการตั้งกมธ.วิสามัญเพื่อเข้าไปทำหน้าที่ตรวจสอบ

โดยพล.อ.ประยุทธ์ ลุกขึ้นชี้แจงอีกครั้งว่า กรรมการกลั่นกรองการตรวจสอบโครงการต่างๆต้องผ่านกลไกของพื้นที่โดยมีหน่วยงานเช่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติคอยกำกับดูแล ซึ่งเราคิดเรื่องต่างๆเหล่านี้ไว้อยู่แล้ว

“อุตตม”ย้ำใช้งบไม่เกินเพดาน

ขณะที่นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ชี้แจงว่า​ รัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินดังกล่าว เพราะสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นวิกฤตสาธารณสุขส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าเป็นวิกฤตระดับโลกโดยไตรมาสแรกของปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัว 1.8% ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีความท้าทาย ต่อการบริหารเศรษฐกิจตั้งแต่กลางปีที่แล้ว นับจากรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศก็ประสบปัญหาความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกมีปัญหาสงครามการค้า รัฐบาลก็ได้แก้ไขปัญหา

อย่างไรก็ดี ปัญหาโควิด-19 ไม่ได้กระทบเฉพาะไทย ประเทศอื่นก็กระทบเช่นกัน โดยจีนหดตัวถึง 6.8% สูงสุดในรอบ 28ปี ฝรั่งเศสหดตัว 5.4% สูงสุดในรอบ71ปี สิงคโปร์หดตัว 2.2% สูงสุดในรอบ11ปี ญี่ปุ่นหดตัว2% “เศรษฐกิจไทยหดตัว 1.8% ไม่ใช่เราจะสบายใจ เพราะผลกระทบรุนแรงแน่นอน เป็นผลกระทบที่เฉียบพลัน และเป็นวิกฤตสาธารณสุข ฉะนั้น เป้าหมายที่รัฐบาลจะต้องดูแลวิกฤตนี้ คือ การเยียวยาผลกระทบทั้งต่อประชาชนและผู้ประกอบการในทันที คือ จะต้องใส่เงินกระเป๋าให้พอยังชีพ”

“เรากู้เงิน 1 ล้านล้านบาทเท่านั้น เพราะส่วนที่เหลือไม่ได้ใช้เงินกู้ แต่เป็นสภาพคล่องที่มีอยู่ในระบบอยู่แล้ว โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนำสภาพคล่องมาใช้แก้ไขปัญหา เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับประเทศเท่านั้น สถานการณ์โควิด-19 เป็นวิกฤตทางสาธารณสุข ที่ส่งผลมาถึงเศรษฐกิจ เป้าหมายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา คือ 1.การดูแลเยียวยาผลกระทบที่เกิดกับประชาชนและผู้ประกอบการในทันที 2.การดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก เป็นผู้จ้างงานกว่า 80%ของการจ้างงานทั้งประเทศ และ 3.การพยายามปกป้องและรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจทั้งตลาดการเงินและตลาดทุนของประเทศ ทุกภาคส่วนวันนี้มีความเชื่อมโยงถึงกันหมด”

“ขอย้ำว่า การกู้เงินเรามีกรอบที่รัดกุมการประเมินผลงานก็ใช้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะและสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้ามาดำเนินการ ถามว่าการกู้เงินครั้งนี้สมเหตุสมผลหรือไม่นั้น รัฐบาลได้พิจารณาด้วยความรอบคอบ การเยียวยาและการเพิ่มสภาพคล่องเข้าไปในระบบ การกู้เงินครั้งนี้คิดเป็น 6% ต่อจีดีพี หรือ 31% ของงบประมาณประเทศ เรามีสัดส่วนการกู้เงินครั้งนี้ไม่ได้กระโดดจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้น เพราะเป็นการกู้เงินในภาวะวิกฤติ” รมว.คลัง ระบุ