สถานกงสุลไทย ณ นครนิวยอร์ก สรุปเหตุการประท้วง-ก่อจลาจล สหรัฐฯ
สถานกงสุลไทย ณ นครนิวยอร์ก โพสต์สรุปเหตุการประท้วง-ก่อจลาจล สหรัฐฯ กรณี “จอร์จ ฟลอยด์” เสียชีวิตจากการจับกุมด้วยความรุนแรงโดยตำรวจ
เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ "Royal Thai Consulate General NY" หรือสถานกงสุลใหญ่ประเทศไทย ณ นครนิวยอร์ก โพสต์ข้อความระบุว่า สกญ.ณ นครนิวยอร์ก ขอเรียนรายงานข้อมูลและพัฒนาการการชุมนุมประท้วงเนื่องจากการเสียชีวิตของนาย George Floyd ในรัฐ/ นครนิวยอร์กและเขตอาณาตามปรากฏในแหล่งข่าวต่าง ๆ ดังนี้
1. รัฐ/ นครนิวยอร์ก
1.1 เมื่อช่วงกลางดึกของ 1 มิ.ย. 2563 (1) กลุ่มผู้ประท้วงนับพันคนได้รวมตัวเดินขบวนประท้วงอย่างสันติในเขต Brooklyn โดยประสงค์จะสื่อสารข้อความเกี่ยวกับความโหดร้ายของ จนท. ตำรวจ (2) เมื่อช่วงเวลา 21.00 – 22.00 น. มีการปล้นสะดมใน Midtown Manhattan โดยเฉพาะย่านร้านค้า high-end แถบ Fifth Avenue และ Madison Avenue บริเวณ Herald Square ซึ่งห้าง Macy’s ถูกงัดแงะเข้าไปในอาคารและจุดไฟเผา และ Union Square และ (3) มีผู้ประท้วงถูกจับกุมเกือบ 700 คน โดย จนท. ตำรวจ 6 นายได้รับบาดเจ็บ และรถตำรวจเสียหาย 6 คัน
1.2 นาย Zellnor Myrie วุฒิสมาชิกรัฐนิวยอร์ก พรรคเดโมแครต (D-NY) ซึ่งเข้าร่วมชุมนุมประท้วงใน Brooklyn ตามข้อ 1.1 (1) ได้ถูกจับกุมตัวใส่กุญแจมือและถูกพ่นสเปรย์พริกไทยโดย จนท. ตำรวจ ซึ่งภายหลังที่ จนท. ตำรวจทราบตำแหน่งนาย Myrie จึงได้ปล่อยตัวและให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์
1.3 ในช่วงการแถลงข่าวประจำวัน นาย Bill de Blasio นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก
- ประกาศต่ออายุภาวะฉุกเฉินหลังเกิดเหตุความรุนแรงและการทำลายทรัพย์สินเมื่อช่วงกลางดึกของคืนที่ผ่านมา โดยจะเริ่มจากเวลา 20.00 น. ของ 2 มิ.ย. 2563 - 05.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ไปจนสุดสัปดาห์นี้ (2-7 มิ.ย)
- ระบุพื้นที่ปัญหาการประท้วงในเขต Bronx ได้แก่ Fordham Road และ Burnside Avenue ซึ่งนาย de Blasio ได้หารือกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อเร่งแก้ไขด้วยแล้ว
- เรียกร้องให้ผู้ประท้วงชุมนุมในช่วงกลางวัน และยุติการชุมนุมก่อนเวลา 20.00 น. โดยนาย de Blasio ย้ำจุดยืนว่าตนสนับสนุนการประท้วงโดยสันติ แต่หากผู้ประท้วงไม่ทำตามมาตรการที่กำหนด ก็อาจมีบทลงโทษทางกฎหมาย
- ห่วงกังวลว่าการประท้วงอาจส่งผลให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เพิ่มขึ้น
- ชื่นชมนาย Terence Monahan, Chief of NYPD ที่คุกเข่าร่วมกับผู้ประท้วงเมื่อคืนที่ผ่านมา
- ได้เห็นภาพการทำร้าย จนท. ตำรวจอย่างโหดร้าย ซึ่งการกระทำนี้ไม่ใช่การแสดงออกของชาวนิวยอร์ก ดังนั้น ผู้ใดที่ทำร้าย จนท. ตำรวจเท่ากับว่าทำร้ายชาวนิวยอร์กทุกคน
1.4 ในช่วงการแถลงข่าวประจำวัน นาย Andrew Cuomo ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก เห็นว่า
- จนท. ตำรวจนครนิวยอร์กไม่มีประสิทธิภาพในการสกัดกั้นการปล้นสะดมและการก่ออาชญากรรมในนครนิวยอร์ก โดยควรปฏิบัติหน้าที่ให้ดีกว่านี้ และควรคำนึงถึงความแตกต่างในการรับมือระหว่างผู้ปล้นสะดมกับผู้ประท้วง ทั้งนี้ นาย Cuomo ได้เสียดสี ว่ามีกลุ่มคนที่จงใจทำให้เส้นแบ่งระหว่างผู้ประท้วงโดยสันติอย่างถูกกฎหมายกับผู้ปล้นสะดม ซึ่ง ปธน. ทรัมป์เป็นหนึ่งในนั้น และได้พยายามหันเหความสนใจสาธารณชนไปที่การปล้นสะดมไม่ใช่การฆาตกรรมนาย Floyd โดยนาย Cuomo หวังว่าจะไม่มีผู้ใดหลงกล
- เรียกร้องให้ผู้ประท้วงชุมนุมกันอย่างสงบและสันติเพื่อ จนท. ตำรวจสามารถทำงานได้
- เสนอความช่วยเหลือต่อนายกเทศมนตรีเมืองต่าง ๆ ในรัฐในส่วนของการส่งกำลัง จนท. ตำรวจเสริม และมี จนท. National Guard เตรียมพร้อมอยู่ 13,000 คน หากจำเป็น
1.5 ปธน. ทรัมป์ได้ทวิตข้อความเกี่ยวกับการประท้วงเกี่ยวกับความไม่สงบและการปล้นสะดมเมื่อคืนวันที่ 1 มิ.ย. 2563 ในรัฐนิวยอร์กว่า “รัฐนิวยอร์กประสบความสูญเสียให้กับกลุ่มผู้ปล้นสะดม อันธพาล กลุ่มหัวรุนแรงฝ่ายซ้าย กลุ่มชนชั้นต่ำและสวะสังคม (low life and scum) ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กปฏิเสธที่จะรับข้อเสนอของตนที่จะส่ง จนท. National Guard เข้าไปควบคุมสถานการณ์ ทำให้รัฐนิวยอร์กต้องถูกฉีกเป็นเสี่ยง ๆ (ripped to pieces)”
ซึ่งนาย Cuomo ได้ตอบโต้ผ่านทวิตเตอร์ว่า “ปธน. ทรัมป์กำลังเรียกร้องให้ใช้กองกำลังทหารอเมริกันต่อพลเมืองอเมริกัน และใช้กำลังทหารเพื่อจัดการผู้ประท้วงโดยสันติเพื่อที่ ปธน. ทรัมป์จะได้มีโอกาสถ่ายรูปที่โบสถ์ ซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่ใช่ ‘reality TV show for this president’ และน่าละอาย”
และนาย de Blasio ตอบโต้ผ่านทวิตเตอร์เช่นกันว่าไม่ต้องการกองกำลัง National Guard ในนครนิวยอร์ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาสถานการณ์ตึงเครียด ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายหากไม่ได้รับการฝึกอบรมดีพอ ทั้งนี้ มี จนท. ตำรวจ 36,000 นายที่จะรักษาความปลอดภัยในนครนิวยอร์ก
1.6 เมื่อช่วงบ่ายของ 2 มิ.ย. 2563 กลุ่มผู้ประท้วงหลายร้อยคนได้รวมตัวและเดินขบวนจาก Foley Square ไปยัง สนง. นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก (New York City Hall) เพื่อทวงถามความยุติธรรมต่อการเสียชีวิตของนาย George Floyd โดยได้ตะโกนคำว่า “Black Lives Matter” ซึ่ง จนท. ตำรวจได้อารักขาสถานที่ และเฮลิคอปเตอร์ตำรวจได้บินวนเพื่อสังเกตการณ์โดยรอบ นอกจากนี้ ยังมีการประท้วงอย่างสันติทั่วนครนิวยอร์ก โดยนอกจากนาย Floyd แล้ว ผู้ประท้วงได้นำรูปภาพของคนผิวสีอื่นที่เสียชีวิตอย่างไม่เป็นธรรม อาทิ นาย Danroy D.J. Henry Jr. นักฟุตบอลชาวแอฟริกัน-อเมริกันของ Pace University ที่เสียชีวิตจากการยิงของตำรวจ NYPD ผิวขาว นาย Michael Brown อายุ 18 ปีที่เสียชีวิตจากการยิงของตำรวจผิวขาวที่เมือง Ferguson รัฐมิสซูริ มาเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ด้วย
1.7 นาย Terrence Monahan, Chief, NYPD แถลงข่าวว่าจะไม่อนุญาตให้รถสัญจรทางใต้ของ96th street เขต Manhattan หลังเวลา 20.00 น. ซึ่งเริ่มช่วงเวลาภาวะฉุกเฉิน ยกเว้นเฉพาะคนในพื้นที่ ผู้ให้บริการที่จำเป็น และรถบรรทุกขนส่งเท่านั้นที่สัญจรผ่านได้
2. รัฐเพนซิลเวเนีย
เมื่อช่วงกลางดึก 1 มิ.ย. 2563 จนท. ตำรวจ 25 นายในเมือง Philadelphia ได้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์การประท้วง โดยมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งพร้อมไม้เบสบอลได้ทำลายข้าวของเสียหายก่อนที่ถูก จนท. ตำรวจสลายการรวมตัว ซึ่งนาย Jim Kenny นายกเทศมนตรีเมือง Philadelphia รู้สึกไม่สบายใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งไม่รู้ว่าจะอยู่อีกนานเท่าใด
3. ขณะนี้ สกญ. ยังไม่ได้รับทราบข้อมูลว่ามีคนไทยหรือธุรกิจไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ อย่างไรก็ดี สกญ. จะติดตามพัฒนาการและรายงานสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ที่มา : Royal Thai Consulate General NY