กลุ่ม 'แคร์' ยุทธศาสตร์แตกพรรค

กลุ่ม 'แคร์' ยุทธศาสตร์แตกพรรค

ขุนพลทักษิณตามรอย "ไทยรักไทย" แต่ไม่ใช่ "ไทยรักษาชาติ" กิจกรรมแรกของกลุ่มแคร์ 17 มิ.ย.นี้ เป็นการเริ่มต้นสงครามแย่งชิงความคิด

นับเป็นสถานการณ์ที่ปรากฏขึ้นไม่บ่อยที่ 4 พรรคการเมืองใหญ่ที่มี ส.ส.ร่วมเกือบ 400 เสียงในสภาฯ ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย จะเกิดปัญหาความขัดแย้งภายในพร้อมกัน

โดยเฉพาะในกลุ่มของพรรคเพื่อไทยร้าวฉานหนัก ถึงขั้นที่หนึ่งในแกนนำของพรรคอย่าง ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ หันหลังให้กับพรรคเพื่อไทยที่เคยร่วมกันก่อร่างสร้างพรรคมาเป็นเวลานาน

ปัจจัยหลักที่ทำให้ ‘ภูมิธรรม’ ไม่อาจทนอยู่ต่อไปได้ หนีไม่พ้นความไม่เป็นเอกภาพในการบริหารของพรรค เพราะในพรรคเวลานี้ เกิดการแบ่งขั้วกันอย่างรุนแรง ทั้งในกลุ่ม กทม.ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่มีเสียงร่ำลือกันในพรรคว่า ให้ความสำคัญเฉพาะ ส.ส.กลุ่มตัวเองเท่านั้น

รวมไปถึงกลุ่มของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่พยายามชิงการเป็นผู้นำมาตั้งแต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ก็เกิดคำถามว่า การอภิปรายครั้งนั้นเป็นการเอาจริงหรือไม่

ด้วยสภาพที่แม่ทัพในพรรคมีความเห็นสวนทาง ภูมิธรรมที่เปรียบเสมือนคนกลาง จึงเลือกที่จะเดินออกมาจากพรรคและมารวมตัวกับกลุ่มผู้ร่วมสร้าง พรรคไทยรักไทย’ (ทรท.) เพื่อทำกิจกรรมการเมืองในกลุ่มแคร์ CARE หรือ คิดเคลื่อนไทยแทน

ทั้งนี้ CARE ย่อมาจาก Creative Action for Revival & People Empowerment ขุนพลคนสำคัญมีด้วยกัน 4 คน นอกเหนือไปภูมิธรรมแล้วยังมี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี’ ‘นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดชและ พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาลซึ่งทั้ง 4 คนล้วนเคยเป็นขุนพลคู่กายของ ทักษิณ ชินวัตร’ เมื่อครั้งสร้างอาณาจักรพรรคไทยรักไทยแทบทั้งสิ้น

‘ภูมิธรรม-หมอเลี๊ยบ-หมอมิ้งค์’ เปรียบเป็นเหมือนมันสมองของทักษิณ ในการสร้างมวลชนเพื่อเป็นฐานรากของพรรคไทยรักไทย ภายใต้ความคิดแบบคนเดือนตุลาที่มุ่งเน้นการให้ทรัพยากรของรัฐเข้าไปถึงมือประชาชนโดยตรง เป็นการทำการเมืองแบบสมัยใหม่ที่ปฏิวัติการเมืองแบบอนุรักษนิยมอย่างสิ้นเชิง นโยบายกองทุนหมู่บ้าน โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ล้วนมาจากปรัชญานี้ทั้งสิ้น

จึงไม่แปลกที่ชื่อของ ‘ทักษิน’ ยังอยู่ในความทรงจำของประชาชนจำนวนไม่น้อย ดังจะเห็นได้จากเวลาทำผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความนิยมต่อนายกรัฐมนตรีของไทยมักจะมีชื่อ ‘ทักษิณ’ ติดเข้าไปด้วยทุกครั้ง

แต่ความสมบูรณ์แบบของทักษิณ ที่เคยสร้างไว้เมื่อเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยหากขาดคนที่ชื่อ ‘พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาลหรือเฮียเพ้ง 

ในหมู่ผู้เคยอยู่ร่วมชายคาพรรคไทยรักไทยต่างบอกเป็นเสียงเดียวกัน ถ้าในสนามฟุตบอลมี 11 คนแล้ว ‘เฮียเพ้ง’ คือ ตัวจ่ายคนสำคัญ

ความเข้มแข็งของรัฐบาลทักษิณในอดีต ที่เกิดขึ้นมาจากความมีเสถียรภาพของพรรคไทยรักไทย ซึ่งเฮียเพ้งเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยดูแล ส.ส.ในพรรคเกิดความสงบได้ในระดับที่น่าพอใจ โดยทำให้ปัญหาการเมืองภายในถึงมือทักษิณน้อยที่สุด

        

 

ดังนั้น การกลับมารวมตัวของ 4 ขุนพลที่ว่ามานี้ ย่อมเป็นเรื่องที่มองข้ามไปไม่ได้

กลุ่มแคร์ CARE ยังไม่ได้ออกตัวว่าจะดำเนินการตั้งเป็นพรรคการเมือง ด้านหนึ่งเป็นเพราะยังไม่ต้องการเป็นเป้าให้ถูกโจมตี เพราะทั้ง 4 คนมีความเกี่ยวโยงกับทักษิณพอสมควร หากเปิดตัวชัดเจน แน่นอนว่าย่อมตกเป็นเป้าทางการเมือง และเสียหายทั้งขบวน โดยเคยมีบทเรียนมาแล้วจากกรณีของ ไทยรักษาชาติ’ (ทษช.) ที่เปิดตัวแรง และเล่นเกมเร็ว แต่สุดท้ายพังไม่เป็นท่า จนส่งผลมายังพรรคเพื่อไทยอันเป็นสำนักงานใหญ่

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องเลือกทำกิจกรรมกึ่ง ๆ ภาคประชาสังคม ดึงกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นที่รู้จักกันในสังคม มาร่วมทำกิจกรรมและสร้างฐานความคิดไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ แบบที่พรรคอนาคตใหม่เคยวางรากฐานจนประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เห็นได้จากแม้พรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบไปแล้ว แต่พรรคก้าวไกลก็ยังสามารถเก็บรักษา ส.ส.ไว้ได้มากกว่า 50 คน เป็นการแสดงให้เห็นว่า รากฐานที่ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ และ ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ ได้วางไว้มีความเข้มแข็งและมั่นคง

การต่อสู้กันในสงครามแย่งชิงประชาธิปไตยครั้งนี้ จะใช้หลักการแบบวิ่งด้วยความเร็วอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องอาศัยการวิ่งแบบมาราธอน ใครอึดกว่า เป็นผู้ชนะ” ทำให้การต่อสู้ครั้งนี้ จึงสู้กันตั้งแต่การวางรากฐานความคิดกันเลยทีเดียว ซึ่งเป็นโมเดลที่ไทยรักไทยเคยทำสำเร็จมาแล้ว และดอกผลยังคงมีให้เก็บเกี่ยวถึงปัจจุบัน

ดังนั้นกิจกรรมแรกอย่างเป็นทางการของกลุ่ม CARE ในวันที่ 17 มิ.ย. 2563 นี้ จึงเป็นการเริ่มต้นของสงครามแย่งชิงความคิด สัญญาณเตือนนี้ ย่อมสั่นคลอนพรรคพลังประชารัฐที่เน้นแต่การใช้อำนาจในช่วงที่ผ่านมา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้