ปิดตำนาน 'ชุณหะวัณ' 3 รุ่น 'ขุนศึก-นายกฯ-เอ็นจีโอ'
หน้าประวัติศาสตร์การเมือง ของคน 3 รุ่น ตระกูลชุณหะวัณ บนเส้นทางที่แตกต่างกัน
หาก “ซอยราชครู” เป็นตำนานการเมืองแล้ว นามสกุล ‘ชุณหะวัณ’ ย่อมเป็นครอบครัวการเมืองที่อยู่คู่กับตำนานนี้เช่นกัน โดยไล่เรียงประวัติศาสตร์ 3 ชั่วอายุคนของครอบครัวนี้ จะเห็นได้ว่ามีบุคลิกแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ผู้เป็นปฐมบททางการเมืองของครอบครัว เป็น “ขุนศึก” ที่มีบทบาทอย่างมาก ในเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ.2490 ยึดอำนาจจากปกครองจากรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในบันทึกเหตุการณ์รัฐประหาร 2490 จอมพลผิน ชุณหะวัณ เขียนถึงเหตุผลที่ต้องรัฐประหารว่า “ยิ่งนานวันก็มีผู้รบเร้าข้าพเจ้ามากขึ้น ตอนนี้ทำให้จิตใจของข้าพเจ้าเกิดฟุ้งซ่านขึ้น ใจหนึ่งก็ใคร่จะได้ทำการ แต่อีกใจก็ท้อถอย แบ่งรับแบ่งสู้อยู่หลายเดือน”
“ในที่สุดจิตใจเอนเอียงไป 75% จึงเริ่มเดินทางไปตามร้านกาแฟ โรงมหรสพ รถยนต์ รถเมล์ประจำทาง และในขบวนรถไฟแทบทุกสาย เพื่อฟังมติมหาชนและฟังมติของนายทหารผู้คุมกำลังในพระนครและหัวเมือง ก็ปรากฏว่า 100% ที่จะให้ล้มล้างรัฐบาลนี้...”
เหตุการณ์ในครั้งนั้น จอมพลผินได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า “วีรบุรุษเจ้าน้ำตา” หรือ “บุรุษผู้รักชาติจนน้ำตาไหล” ภายหลังได้แถลงต่อสื่อมวลทั้งน้ำตาถึงความจำเป็นที่ต้องทำการรัฐประหาร ก่อนที่ต่อมาจะก่อกำเนิด “ตำนานซอยราชครู” และ “พรรคเสรีมนังคศิลา”
สายเลือดทางการเมืองเริ่มได้ถ่ายทอดจากพ่อสู่ลูก โดย พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ สามารถโลดแล่นในการเมือง และก้าวไปถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และยังเป็นผู้สร้างตำนาน “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” อันเป็นวาทกรรมที่นักการเมืองยังนำไปต่อยอดเพื่อสร้างความนิยมทางการเมืองจนถึงทุกวันนี้ และแม้แต่ทักษิณ ชินวัตร ยังเขียนในหนังสือตาดูดาวเท้าติดดิน ชื่นชม พล.อ.ชาติชาย ว่ามีความเป็นสมัยใหม่ มีวิสัยทัศน์ ฉับไว และกล้าตัดสินใจ
แต่ตลอดชีวิตทางการเมืองของ 2 นายพลพ่อลูก ต่างต้องพบความปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในรุนแรง
จอมพลผิน ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มราชครู ต้องปะทะกับกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยทั้งสองฝ่ายต่างมีแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองไม่ตรงกัน
ส่วนในยุคของ พล.อ.ชาติชาย แม้ในแง่ของนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าจะได้รับการยอมรับ แต่กับปัญหาภายในรัฐบาลที่เต็มไปด้วย ผู้มีอิทธิพลและกลุ่มทุน จนการทุจริตและความไม่โปร่งใสมากขึ้น รวมไปถึงเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับทหารที่รัฐบาลพยายามจะตั้ง พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก อดีตผู้บัญชาการทหารบก เป็น รมว.กลาโหม จนในที่สุดเกิดการรัฐประหารล้มรัฐบาลลงในที่สุด
จากความขัดแย้งทางการเมืองที่ครอบครัวชุณหะวัณได้พบเจอมาหลายทศวรรษ ทำให้ในมุมมองของ ‘ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ’ ทายาทรุ่นที่ 3 จึงเลือกขอเลือกเส้นทางการเมืองนอกกระแสแทน ในนามการเมืองภาคประชาชน เพื่อร่วมผลักดันนโยบายสาธารณะที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้กับคนจน ก่อนที่จะได้รับเลือกตั้งมาเป็นส.ว.และแสดงบทบาทตรวจสอบรัฐบาลจนเป็นที่ประจักษ์
เช่น การต่อต้านนโยบายการค้าเสรีในสมัยรัฐบาลทักษิณ การเรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รื้อฟื้นนโยบายการทำสงครามกับยาเสพติด จนเกิดการฆ่าตัดตอน 2,500 ศพ
แม้ในห้วงเวลาหนึ่งจะได้เข้ามาอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่ถึงที่สุดแล้วในใจของ “อาจารย์โต้ง” ก็ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์การเมืองภาคประชาชนอย่างเข้มข้น
ปัจจุบัน ครอบครัวชุณหะวัณ ไม่มีทายาทรุ่นที่ 4 ที่เข้ามารับมรดกทางการเมือง เหลือทิ้งไว้แต่ความทรงจำของบรรพบุรุษ 3 รุ่น ที่เป็นทั้งขุนศึก นายกรัฐมนตรี และเอ็นจีโอ