งบฯ 64 เขย่า ครม. จุดเปลี่ยนรัฐบาล?

งบฯ 64 เขย่า ครม. จุดเปลี่ยนรัฐบาล?

การเมืองเดินทางมาถึงจุดไฮไลต์สำคัญอีกครั้ง ภายหลังสภาผู้แทนราษฎรเตรียมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วงเงิน มากกว่า 3 ล้านล้านบาท ในวันที่ 1-3 ก.ค.2563

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ รัฐบาลต้องเผชิญกับสถานการณ์ลำบากเกี่ยวกับการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณมาแล้วครั้งหนึ่ง ด้วยเหตุที่มี ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณประจำปี พ.ศ.2563 จนเป็นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาวินิจฉัย

เวลานั้นรัฐบาลก็กัดฟันลุ้นหนักพอสมควรว่า ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร เนื่องจากตอนนั้น รัฐบาลอยู่ในสภาพเสียงปริ่มน้ำ ที่ไม่ได้เข้มแข็งเหมือนในปัจจุบัน โดยหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ พ.ศ.2563 เสียไปทั้งหมด แน่นอนว่ารัฐบาลไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องรับผิดชอบด้วยการยุบสภาฯ หรือลาออก

แต่เทพีแห่งโชค ยังอยู่ข้างรัฐบาล ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพียงแค่ให้กลับมาพิจารณาเป็นรายมาตราและลงมติใหม่อีกครั้ง ทำให้รัฐบาลผ่านพ้นปัญหาไปได้ด้วยดี ก่อนที่จะเก็บแต้มและอยู่ในสถานะที่มีเสถียรภาพได้อย่างมั่นคงเหมือนในปัจจุบันตั้งแต่มีเหตุการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่และการร่วมลงมติไว้วางใจรัฐมนตรีของส.ส.ฝ่ายค้าน

 

มาเวลานี้ สถานการณ์ของพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณเปลี่ยนไป รัฐบาลไม่ได้มีสภาพเสียงปริ่มน้ำเหมือนอดีต แต่เป็นรัฐบาลที่พูดได้เต็มปากว่า มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ในทางกลับกันฝ่ายค้านกลับอยู่ในสภาพที่อ่อนแออย่างเห็นได้ชัด

โดยเฉพาะการแพ้เลือกตั้งซ่อม ส.ส.ถึงสามครั้ง ได้แก่ นครปฐม ขอนแก่น และลำปาง ความพ่ายแพ้ซ้ำซากของฝ่ายค้านยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยที่เคยเข้มแข็งนั้นยิ่งถูกพรรคพลังประชารัฐถ่างช่องว่างให้มากขึ้นเข้าไปทุกที

แต่กระนั้นการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณเวลานี้ ไม่เพียงแต่สถานะของรัฐบาลและฝ่ายค้านที่เปลี่ยนไปเท่านั้น เพราะอีกด้านหนึ่ง ภายใต้ความห่างระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐก็เริ่มมีเค้าลางที่อาจเกิดจุดเปลี่ยนทางการเมืองอย่างการ "ยุบสภาฯ” ได้เช่นกัน โดยมีร่างกฎหมายงบประมาณประจำปี 2564 เป็นหมุดหมายสำคัญ

รัฐบาลโดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ กำลังอยู่ในช่วงของการจัดรูปของพรรคใหม่ ภายใต้การนำของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยมีการพูดกันว่า พล.อ.ประวิตร จะเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคชั่วคราวหรือราว ๆ 6 เดือนเท่านั้น เพื่อกวาดล้างกลุ่มก๊วนภายในพรรคให้หมด แล้ววางรากฐานของพรรคให้เข้มแข็งอีกครั้ง

หากกรอบเวลาเป็นดังนี้ ย่อมประจวบเหมาะกับกรอบเวลาการพิจารณางบประมาณ อย่างมีนัยสำคัญ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้สภาฯ ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 105 วัน และวุฒิสภา จะมีเวลาอีก 20 วันในการพิจารณา รวมเป็นเวลา 125 วัน

สถานะของรัฐบาล และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะว่าไปแล้วก็ไม่มั่นคงเช่นกัน แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดจะคลี่คลาย แต่ปัญหาเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำกำลังก่อตัวขึ้น และมีความเป็นไปได้ว่า จะรุนแรงกว่าทุกครั้ง ยังไม่นับปัญหาความขัดแย้งภายในรัฐบาลที่อาจจะปะทุได้อีกครั้ง

ปัญหาเหล่านี้ อาจเป็นปัจจัยที่กดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจทางการเมืองด้วยการยุบสภาฯ เพื่อล้างไพ่ใหม่ทั้งหมด ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ยังไม่ได้แก้ไข และตัวเองยังได้เปรียบเหนือกว่าทุกพรรค โดยเฉพาะการมี ส.ว.เป็นกองหนุน ที่พร้อมให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่สาม

แต่ก่อนจะไปถึงจุดที่ต้องตัดสินใจยุบสภาฯ ได้นั้นขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับจังหวะทางการเมืองเป็นสำคัญ และคงไม่มีจังหวะใดจะเหมาะไปกว่า การที่ร่างกฎหมายงบประมาณได้ผ่านทั้งสภาฯ และวุฒิสภา

หากพลิกหน้าประวัติศาสตร์การเมืองกลับไปดู จะมีรัฐบาลไหนบ้างที่สามารถคุมทรัพยากรของประเทศได้อย่างเบ็ดเสร็จเท่ากับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถือกฎหมายที่ว่านั้น อยู่ในมือถึง 5 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายงบประมาณ 2564 กฎหมายโอนงบประมาณ พระราชกำหนดกู้เงิน และที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิดอีก 3 ฉบับ 

ภายใต้กฎหมาย 5 ฉบับนี้ จะนำมาซึ่งโครงการจำนวนมหาศาล ที่จะลงเข้าไปในพื้นที่ของรัฐบาล ที่สามารถเปลี่ยนใจคนที่ไม่เคยรัก พล.อ.ประยุทธ์ ให้มาสนับสนุนได้

ไม่เพียงเท่านี้ มองไปยังฝ่ายตรงข้ามไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายค้าน หรือแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ก็ไม่ได้เข้มแข็งเหมือนกับพรรคพลังประชารัฐ 

ด้วยเหตุนี้ หาก พล.อ.ประยุทธ์ จะตัดสินใจยุบสภาฯ ก็ไม่แปลก หากสามารถไปต่อด้วยจำนวน ส.ส.ที่มากกว่าทุกพรรคการเมือง ย่อมได้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ไม่ต่างกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.

ดังนั้น ที่กระแสสังคมจับตามอง การปรับคณะรัฐมนตรี” จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของรัฐบาล แต่ความเป็นไปได้ในการ ยุบสภาฯก็ไม่อาจมองข้ามไปได้เช่นกัน