รัฐบาล ต่อยอด 'โครงการหลวง' สนองพระราชปณิธานในหลวง 'สืบสาน รักษา ต่อยอด'
รัฐบาล ต่อยอด “โครงการหลวง” สนองพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 10 "สืบสาน รักษา ต่อยอด"
วันนี้ (15 ก.ค. 63) เวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.) ครั้งที่ 1/2563 โดยมี นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรีที่ปรึกษาพิเศษ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และกรรมการ ร่วมประชุม
ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2562-2563 ของมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. โดยโครงการหลวงได้รับการรับรองทะเบียนพันธุ์พืชใหม่กับกรมวิชาการเกษตรแล้ว 15 พันธุ์ และกำลังขอขึ้นทะเบียนพันธุ์ไม้ดอกมาลีรัตน์ วงศ์ขิง รวมทั้ง ฟักทองญี่ปุ่น คะน้าฮ่องกง และมะเขือเทศผลเล็ก ผลงานวิจัยที่นำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากสารสกัดถั่งเช่า โยเกิร์ตนมกระบือ และผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุด คือ กาแฟอราบิกาเฉพาะถิ่น กาแฟแคบซูลซิงเกิลออริจิน น้ำมันลินินสกัดเย็น ผลิตภัณฑ์คีนัวกรอบ คีนัวบาร์ และขนมปังคีนัวผสมสตรอว์เบอร์รี โดยเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวง 13,645 ครัวเรือน ได้รับการส่งเสริมให้ปลูกพืชเขตหนาวและกึ่งหนาว 381 ชนิด ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย จำหน่ายภายใต้ตรา “โครงการหลวง” ในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 มูลค่ารวม 1,328 ล้านบาท
ที่ประชุมยังได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณสนับสนุนการสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ณ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นศูนย์รวมการปฏิบัติงานวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูง เกิดประโยชน์โดยรวมแก่ประเทศ พร้อมรับทราบผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่สูงตามแนวทางของโครงการหลวง โดยขณะนี้กรมป่าไม้ได้รับการอนุมัติขอบเขตการใช้พื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่รวม 2,508,958 ไร่ 1 งาน 27 ตารางวา
เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆเข้าปฏิบัติงานในขอบเขตพื้นที่อย่างคล่องตัว และเตรียมดำเนินการขอใช้ประโยชน์พื้นที่ตั้งศูนย์/สถานีฯ และพื้นที่เกษตร รวมทั้งพื้นที่ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสำหรับการแก้ปัญหาในพื้นที่นำร่อง คือ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ได้ฟื้นฟูพื้นที่กลับคืนสู่ธรรมชาติ ด้วยความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ และประชาชนในพื้นที่ เป็นแบบอย่างของการดำเนินการต่อไปบนพื้นที่สูงอื่นในจังหวัดเชียงใหม่ และตาก รวมทั้งต่อยอดไปในพื้นที่สูงของจังหวัดเชียงราย ลำพูน พะเยา และแม่ฮ่องสอน
จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้รับฟังผลการประชุมวิชาการนานาชาติด้านการพัฒนาเกษตรที่สูงอย่างยั่งยืน ตามพระราชปณิธานสืบสาน รักษา ต่อยอดงานโครงการหลวง จัดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ มีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 17 ประเทศ 675 คน ความสำเร็จของโครงการหลวง ถือเป็นต้นแบบการพัฒนาทางเลือกที่เป็นแนวปฏิบัติบนพื้นฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยหลักการทำงาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เน้นการบูรณาการของทุกภาคส่วน และเตรียมต่อยอดสู่การจัดตั้งสถาบันเรียนรู้การพัฒนาที่สูงอย่างยั่งยืน เพื่อขยายแนวทางและองค์ความรู้ ให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อไป
ในตอนท้ายสุด นายกรัฐมนตรีได้พิจารณาอนุมัติกรอบงบประมาณของหน่วยงาน บูรณาการและสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนแม่บทศูนย์พัฒนาโครงการหลวง และแผนแม่บทโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ระยะ 6 ปี (พ.ศ. 2560-2565) โดยให้ความสำคัญกับการจัดการปัจจัยพื้นฐาน น้ำ พื้นที่ป่าต้นน้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตชุมชนบนพื้นที่สูง เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป