ทบทวน 'โควตา กทม.' วัดพลัง '3 ก๊ก' ชิงรัฐมนตรี
การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามธรรมเนียมแล้ว การคำนวณโควตารัฐมนตรี จะมีการตั้งเกณฑ์ขึ้นมา
ทั้งนี้สามารถจำแนก ส.ส.กทม. ได้ดังนี้ กลุ่มสนับสนุน “ณัฏฐพล-พุทธิพงษ์” ประกอบด้วย 1.จักรพันธ์ พรนิมิตร (บางกอกน้อย/บางพลัด) 2.กษิดิ์เดช ชุติมันต์ (ลาดพร้าว/วังทองหลาง) 3. ชาญวิทย์ วิภูศิริ (มีนบุรี / คันนายาว) 4. ประสิทธิ์ มะหะหมัด (สะพานสูง/ประเวศ)
กลุ่มดาวฤกษ์ ประกอบด้วย 1. กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา (คลองเตย/วัฒนา) 2. ภาดาท์ วรกานนท์ (พญาไท/ราชเทวี/จตุจักร) 3. ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ (ดุสิต/บางซื่อ) 4. ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันท์ (บางกะปิ/วังทองหลาง) 5. ศิริพงษ์ รัสมี (หนองจอก)
กลุ่มนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ประกอบด้วย 1. กานต์กนิษฐ์ แห้งสันตติ (พระนคร/ป้อมปราบ) 2. พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ (บางรัก/สาทร) กลุ่มสามมิตร 1.สิระ เจนจา(หลักสี่/ดอนเมือง)
หากจำแนกจำนวน ส.ส.กทม. ออกมาจะพบว่ากลุ่มสนับสนุน “ณัฏฐพล-พุทธิพงษ์” มีเพียง 4 เสียงเท่านั้น จึงมีการทวงถามกันภายในพรรคพปชร.ว่าโควตารัฐมนตรีของ ส.ส.กทม. ควรจะมีกี่เก้าอี้ จึงมีความเป็นได้สูงที่ “ณัฏฐพล-พุทธิพงษ์” อาจจะต้องยอมเสียสละเก้าอี้รัฐมนตรี เนื่องจาก ส.ส.กทม. ที่เคยอยู่ในความดูแลของทั้ง “ณัฏฐพล-พุทธิพงษ์” ขอแยกด้วยออกไปสังกัดกลุ่มอื่น โดยไม่ได้ขึ้นตรงกับ “ณัฏฐพล-พุทธิพงษ์” อีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม “ณัฏฐพล-พุทธิพงษ์” พยายามอธิบายว่าการนับจำนวน ส.ส. ที่อยู่ในความดูแล จะต้องนับภายหลังเลือกตั้งเสร็จสิ้น ซึ่งทั้ง “ณัฏฐพล-พุทธิพงษ์” สามารถช่วย ส.ส.กทม. ลงพื้นที่หาเสียง พร้อมดำเนินการจัดหาหัวคะแนนให้ จนสามารถทำให้พรรคพปชร. ได้ ส.ส.กทม. มาทั้งหมด 12 เสียง จึงควรได้เครดิตมากกว่า การจับกลุ่มกันภายหลังการเลือกตั้ง
จากนี้ต้องจับตาศึกโควตารัฐมนตรีของพรรคพปชร. เพราะหาก “ณัฏฐพล-พุทธิพงษ์” ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีทั้ง 2 คน อาจจะทำให้กลุ่มการเมืองอื่นภายในพรรคพปชร.เกิดความไม่พอใจ และจะทำให้เป็นการสุมเชื้อไฟให้เกิดความขัดแย้งขึ้นภายในพรรคพปชร.อีกระลอก