เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภารกิจ ‘ทีมเศรษฐกิจ’ ชุดใหม่
เมื่อเศรษฐกิจโลกที่เคยเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยมาตลอดยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น สิ่งที่ไทยต้องทำ คือ เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจจากภายใน ถือเป็นโจทย์ใหญ่ “ทีมเศรษฐกิจ” ของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่จะการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศต่อไป
ถ้าไม่มีอะไรที่ผิดไปจากการคาดหมาย ไม่เกินกลางเดือน ส.ค.นี้ เราคงได้ “รัฐมนตรีใหม่” รวม 6 คน ประกอบด้วย 1.“ปรีดี ดาวฉาย” ว่าที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 2.“อนุชา นาคาศัย” ว่าที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 3. “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม 4. “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 5.“สุชาติ ชมกลิ่น” ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ 6. “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” ว่าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน
สิ่งสำคัญที่ “คนไทย” ทั้งประเทศอยากเห็นในเวลานี้ โดยเฉพาะจาก “ทีมเศรษฐกิจ” ของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ คือ การเร่ง “ฟื้นฟูเศรษฐกิจ" ที่โดนผลกระทบจากพิษโควิด-19 เพราะคงไม่มีใครปฏิเสธว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้เป็นปีที่ “สาหัส” สุดๆ นับตั้งแต่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ...เผลอๆ อาจจะหนักกว่าครั้งนั้นด้วยซ้ำ สาเหตุเพราะวิกฤติครั้งนี้ไม่ได้มีแค่ “ไทย” เท่านั้น ที่โดนผลกระทบจนเศรษฐกิจทรุดตัวลงหนัก แต่ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก ที่สำคัญหลายประเทศในเวลานี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่ดีขึ้น ในบางประเทศดูเลวร้ายลงกว่าเดิมด้วย ดังนั้นการจะรอให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเพื่อดึงให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นคงต้องเลิกหวังไปเลย
เมื่อเศรษฐกิจโลกที่เคยเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยมาตลอดยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น สิ่งที่ “ไทย” ต้องทำ คือ เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจจากภายใน แต่ “คำถาม” คือ จะทำอย่างไร ...ประเด็นนี้ถือเป็น “โจทย์ใหญ่” และเป็น “การบ้าน” ที่ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ต้องคิด ซึ่งเราค่อนข้างมั่นใจว่า ทีมเศรษฐกิจชุดนี้คงทำการบ้านมาอย่างดีแล้ว อย่างไรก็ตามเราเห็นว่า หนึ่งในโจทย์สำคัญที่ “รัฐบาล” ควรให้น้ำหนักมากขึ้น คือ การกระตุ้น “การลงทุนภาคเอกชน”
แน่นอนว่า การผลักดันให้เอกชนลงทุนมากขึ้นกว่าจะเห็นผลเชิงเศรษฐกิจต้องใช้เวลานาน แต่เราเห็นว่า รัฐบาลไม่ควรละเลิกจุดนี้ แต่ควรต้องทำควบคู่กับการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพราะการลงทุนจะเป็น “รากฐาน” สำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ยิ่งที่ผ่านมา “ไทย” เป็นประเทศเดียวที่ ระดับการลงทุนภาคเอกชนยังคง “ต่ำกว่า” ช่วงก่อนเกิด “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ซึ่งน่าจะเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยช่วงหลายปีมานี้ ขยายตัวได้น้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
นอกจากนี้เราเห็นว่า การขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ “อีอีซี” ถือเป็นหนึ่งในโครงการหลักที่ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ควรให้ความสำคัญและต้องผลักดันต่อเนื่องเพื่อให้เกิดขึ้นและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะสร้าง “ฐานการลงทุน” จากทั้งในและต่างประเทศ เป็นหนึ่งในความหวังที่จะช่วยยกศักยภาพเศรษฐกิจไทยก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เราเชื่อว่านักธุรกิจจากหลายประเทศได้ปักหมุดรอลงทุนในโครงการนี้อยู่แล้ว จึงหวังว่าทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ยังคงให้ความสำคัญกับโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง