ส่อง 6 คดีดัง ยุค 'วงศ์สกุล' ไม่ฟ้อง-ไม่อุทธรณ์-รอชี้ขาด

ส่อง 6 คดีดัง ยุค 'วงศ์สกุล' ไม่ฟ้อง-ไม่อุทธรณ์-รอชี้ขาด

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์การกลับคำสั่งจาก “ฟ้อง” เป็น “ไม่ฟ้อง” จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ “บอส รอดทุกข้อหา” ในคดีขับรถเฟอร์รารีชนตำรวจเสียชีวิต

เมื่อค้นข้อมูลย้อนหลังเกี่ยวกับการสั่งคดีดังหลายคดี เพื่อตั้งข้อสังเกตถึงการทำงานของอัยการบางส่วนในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีการใช้ดุลยพินิจในบางเรื่อง บางคดี เป็นที่กังขาของสังคม

นอกจากคดี นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ทายาทเจ้าของกิจการเครื่องดื่มชูกำลังดังระดับโลกที่ “รอดทุกข้อหา”  เมื่อตรวจสอบย้อนหลังกลับไป ยังพบว่ามีคดีสำคัญที่เป็นข่าวโด่งดังอีกอย่างน้อย 5 คดีที่สังคมคาใจการทำงานของอัยการยุคนี้

เริ่มจากคดีที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)ร้องทุกข์กล่าวโทษ นายพานทองแท้ หรือ โอ๊คชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในข้อหาฟอกเงิน ซึ่งเป็นคดีต่อเนื่อง แตกลูกจากคดีทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร

โดยคดีนี้พนักงานสอบสวนดีเอสไอมีความเห็นสั่งฟ้อง ต่อมาอัยการคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.)ก็มีความเห็นแบบเดียวกัน และยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแบบมีความเห็นแย้ง คือ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนให้ลงโทษจำคุก 4 ปีกับจำเลย (นายพานทองแท้) โดยไม่รอลงอาญา แต่ผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะกลับให้ยกฟ้อง

เมื่อศาลยกฟ้องแบบมีความเห็นแย้งเช่นนี้ โดยปกติอัยการต้องยื่นอุทธรณ์ เพราะอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีมาตั้งแต่แรก แต่อัยการกลับมีความเห็นไม่อุทธรณ์คำพิพากษา ทำให้ดีเอสไอทำความเห็นแย้งกลับมา เพื่อให้อัยการยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ แต่สุดท้าย นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ในฐานะรักษาการอัยการสูงสุด ลงนามในคำสั่ง ไม่อุทธรณ์ทำให้คดีถึงที่สุด โดยนายเนตร เป็นคนเดียวกับที่มีคำสั่งไม่ฟ้องนายบอสจน รอดทุกข้อหา

นอกจากนั้น ยังมีคดีฉ้อโกงสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งโยงถึงวัดพระธรรมกาย โดยศาลพิพากษาจำคุกผู้เกี่ยวข้องไปแล้วหลายคดี แต่ในคดีที่ดีเอสไอยื่นฟ้อง นายอนันต์ อัศวโภคิน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง ฐานสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงินที่ได้จากการทุจริต ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินจากสหกรณ์ฯ ปรากฏว่าอัยการสำนักงานคดีพิเศษมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง

ต่อมาพนักงานสอบสวนดีเอสไอทำความเห็นแย้ง ขณะนี้เรื่องอยู่ที่อัยการสูงสุด รอคำสั่งชี้ขาดว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง

 

อีกคดีที่รอการชี้ขาดของอัยการสูงสุดมานานหลายเดือนแล้ว ก็คือ คดีทุจริตงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตซอลของโรงเรียนในพื้นที่ จ.นครราชสีมา โดยผู้ถูกกล่าวหา คือ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล พร้อมพวก

คดีนี้มี 7 สำนวน ในสำนวนแรก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ส่งสำนวนพร้อมความเห็นสั่งฟ้องมายังสำนักงานอัยการสูงสุด แต่ฝ่ายอัยการตรวจสำนวนแล้วพบข้อไม่สมบูรณ์ จึงต้องตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการกับ ป.ป.ช. เพื่อแก้ไขข้อไม่สมบูรณ์นั้น ซึ่งคณะทำงานร่วมได้พิจารณาแล้ว มีมติให้สั่งฟ้อง เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา จากนั้นได้ส่งมติและสำนวนให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องต่อศาล 

แต่จนถึงปัจจุบัน ผ่านมาเกือบ 2 เดือนแล้ว อัยการสูงสุดยังไม่ได้ชี้ขาด ทั้งที่ตามขั้นตอนตามกฎหมาย ป.ป.ช. (พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561) มาตรา 77 อัยการสูงสุดไม่น่าจะมีความเห็นเป็นอื่นได้อีก นอกจากนำคดียื่นฟ้องต่อศาลเท่านั้น

คดีที่กลายเป็นเผือกร้อนในมืออัยการสูงสุด ยังมีอีกอย่างน้อย 2 คดี

หนึ่งคือ คดีที่อัยการกลับคำสั่งจาก ฟ้องเป็น ไม่ฟ้อง นางนิภา วิระเทพสุภรณ์ และ นายธนพล วิระเทพสุภรณ์ ภรรยาและลูกชายของ เสี่ยกำพล วิระเทพสุภรณ์ หลังถูกอัยการสั่งฟ้องในคดีเจ้าหน้าที่บุกทลายสถานบริการอาบอบนวด วิคตอเรีย ซีเคร็ท ในข้อหาค้ามนุษย์ แต่ศาลยกฟ้อง และภายหลังอัยการสำนักงานคดีค้ามนุษย์ ได้อ้างคำพิพากษาที่ยังไม่ถึงที่สุดนี้ ทบทวนคำสั่งฟ้อง กลายเป็น สั่งไม่ฟ้อง ทั้งนางนิภา และลูกชาย ต่อมาอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษก็เห็นพ้องด้วย ไม่ทำความเห็นแย้ง ทำให้คดีในส่วนนี้ถึงที่สุด นางนิภากับลูกพ้นมลทิน ส่วนเสี่ยกำพลหลบหนีไปตั้งแต่ถูกดำเนินคดี

คดีนี้แม้จะเกิดขึ้นก่อนที่นายวงศ์สกุลจะขึ้นเป็นอัยการสูงสุด แต่หลังจากเกิดเรื่อง นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย ได้ออกมาแฉทำนองว่า นาย ว. ซึ่งกำลังจะไปทำงานใหญ่โตแถวถนนแจ้งวัฒนะ เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดี ทำให้สำนักงานอัยการสูงสุดต้องออกมาแถลงปฏิเสธข่าว ว่านาย ว.ไม่ได้หมายถึง นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษในขณะนั้น ซึ่งเป็น “ว่าที่อัยการสูงสุด”

ต่อมา นายรณสิทธิ์ พฤกษยาชีวะ ประธานมูลนิธิรณสิทธิ์ และเครือข่าย 13 องค์กรต่อต้านการค้ามนุษย์ ได้ไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ร้องขอให้ตรวจสอบดุลยพินิจของอัยการในคดีนี้ นายกฯจึงสั่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดยุค นายวงศ์สกุล ตรวจสอบ รวมถึงประเด็นการติดตามตัวเสี่ยกำพลที่ไม่มีความคืบหน้าด้วย

การตรวจสอบเรื่องนี้ยืดเยื้อมานานตั้งแต่ต้นปี โดยไม่มีการสรุปผลออกมา และผู้ที่เป็นประธานคณะทำงานตรวจสอบ คือ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ซึ่งเคยเป็นอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลสูง ทำให้มูลนิธิรณสิทธิ์ และเครือข่าย 13 องค์กรต่อต้านการค้ามนุษย์ไม่เชื่อมั่น โดยเฉพาะหลังจากที่ นายเนตร ได้ลงนามในคำสั่งไม่อุทธรณ์คดีนายพานทองแท้ และยังเป็นผู้ที่มีคำสั่งไม่ฟ้องนายบอส จน “รอดทุกข้อหา” ด้วย

สอง คือคดีอุ้มฆ่า บิลลี่ หรือ นายพอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย ที่มี นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และพวกรวม 4 คนตกเป็นผู้ต้องหา ซึ่งดีเอสไอพบหลักฐานใหม่ และทำสำนวนพร้อมความเห็นสั่งฟ้องส่งให้อัยการ กลายเป็นข่าวครึกโครมเมื่อปีที่แล้ว

แต่ต่อมา เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีในข้อหาหลักทั้งหมด คงคำสั่งฟ้องเพียงข้อหาเดียว คือ ยึดน้ำผึ้งป่าของบิลลี่ไปโดยมิชอบเท่านั้น พร้อมส่งสำนวนเป็นเอกสารทั้งหมด 17 แฟ้มคืนกลับให้ดีเอสไอ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ดีเอสไอได้ทำความเห็นแย้งอัยการ และส่งสำนวนกลับไปให้อัยการสูงสุดชี้ขาด ซึ่งนับเป็นเผือกร้อนอีก 1 คดีในมือของนายวงศ์สกุล ซึ่งก็ต้องรอลุ้นว่าอัยการสูงสุดจะใช้เวลาอีกนานแค่ไหนในการชี้ขาด