เปิดเหตุผล 'คลัง' โต้ข่าว 'รัฐถังแตก' หลังกู้เงิน 2 แสนล้าน ยันคงคลัง 2.8 แสนล้าน

เปิดเหตุผล 'คลัง' โต้ข่าว 'รัฐถังแตก' หลังกู้เงิน 2 แสนล้าน ยันคงคลัง 2.8 แสนล้าน

เปิดเหตุผล กระทรวงการคลัง โต้ข่าว "รัฐถังแตก" กู้เงิน 2 แสนล้าน ยันคงคลัง 2.8 แสนล้าน ยันหนี้สาธารณะไม่เกิน60%ของจีดีพี

ตามที่ได้มีกระแสข่าวว่าคลังถังแตกเงินคงคลังไม่พอใช้ จนคณะรัฐมนตรีต้องอนุมัติกู้เงินพิ่มเติมอีก 2.14 แสนล้านบาทนั้น

กระทรวงการคลัง ขอเรียนชี้แจงว่า การขออนุมัติกรอบการกู้เงินกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ใน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 214,093 ล้านบาท เป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID – 19) ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเศรษฐกิจไทยซึ่งพึ่งพิงต่างประเทศ ค่อนข้างมากทั้งในด้านการส่งออกและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง รวมทั้งผลที่เกิดขึ้นต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพของประชาชนในทุกสาขาอาชีพ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ COVID – 19 อยางต่อเนื่อง

การหดตัวของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ตลอดจนการดำเนินมาตรการด้านการคลังต่างๆ ของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ประกอบกับการเลื่อนระยะเวลาชำระภาษีได้ ส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ดังนั้น เพื่อเตรียมการรองรับการใช้จ่ายของรัฐบาล ในช่วงต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และเพื่อให้การดำเนินมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง กระทรวงการคลังจึงจำเป็นต้องขออนุมัติกรอบการกู้เงินเพื่อรองรับกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้วงเงิน 214,093 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังจะพิจารณากู้เงินตามความจำเป็นนั้น

ทั้งนี้ ระดับเงินคงคลังของรัฐบาลในปัจจุบันยงอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยสถานะเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 อยูที่ระดับ 282,141 ล้านบาทและคาดว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เงินคงคลังจะอยู่ในระดับที่เพียงพอที่จะรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐและดำเนินมาตรการที่ จำเป็นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไป

ในกรณีที่รัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องกู้เงิน เพิ่มเติมเต็มกรอบวงเงิน 2.14 แสนล้านบาทจะส่งผลให้ สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้าง ต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่ระดับร้อยละ 51.64 ซึ่งไม่เกินร้อยละ 60 ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด

กระทรวงการคลังคาดว่า มาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่คณะรัฐมนตรีได้พิจารณา อนุมัติแล้วจะเริ่มส่งผลต่อการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจในช่วงต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และสามารถดูแลประชาชน และประคับประคองผู้ประกอบการให้ผ่านช่วงวิกฤติครั้งนี้ไปได้

159797692597

ทั้งนี้ จากกรณีกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์วานนี้ (20 ส.ค.) หลัง นางแพตริเซีย มงคลวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่ามติในที่ประชุม ครม. ล่าสุดมีความเห็นชอบให้กระทรวงการคลังกู้เงินปีงบ 2563 อีก 2.14 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้กรณีที่รายจ่ายมากกว่ารายได้

โดยมีการคาดว่ารายได้จะเก็บได้ต่ำกว่า 9% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือ กว่า 3 แสนล้านบาท และเงินคงคลังอาจจะมีไม่เพียงพอในการใช้จ่ายของประเทศ เนื่องจากเงินคลังเหลือน้อย จึงให้เปิดวงเงินกู้ดังกล่าว โดย สบน. จะประเดิมกู้ส่วนแรก 5 หมื่นล้านบาท โดยการออกเป็นพันธบัตรออมทรัพย์ขายให้ประชาชนทั่วไปในเดือนนี้ สำหรับวงเงินกู้ 2.14 แสนล้านบาท เป็นคนละส่วนการกู้เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณ 2563 จำนวน 4.69 แสนล้านบาท ซึ่งมีการกู้ไปจนเต็มหมดแล้ว

ทั้งนี้ ตามกฎหมาย คลังสามารถกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณได้ 20% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย บวกกับอีก 80% ของต้นเงินชำระเงินกู้ ซึ่งในปี 2563 จะสามารถกู้ได้ 6.38 ล้านบาท ซึ่งการกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุล และการกู้กรณีรายจ่ายมากกว่ารายได้จะอยู่ในกรอบกฎหมายดังกล่าว

นางแพตริเซีย ยังกล่าวด้วยว่า การกู้เงินเพื่อมาใช้จ่ายกรณีที่รายจ่ายมากกว่ารายได้ในปี 2563 ไม่ได้เป็นครั้งแรกของประเทศที่ทำ โดยเคยกู้เงินลักษณะนี้ในปีที่ไทยจะวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์มาแล้ว เนื่องจากตอนนั้นรายจ่ายมากกว่ารายได้ที่เก็บได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การกู้เงินเพิ่มกรณีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ไม่ได้ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะมีปัญหา โดยล่าสุดอยู่ที่ 45.83% ของจีดีพี และคาดว่าสิ้นปีงบประมาณนี้จะอยู่ที่ 51-52% ของจีดีพี และสิ้นปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ 57-58% ของจีดีพี

สำหรับการกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ขณะนี้คลังกู้ไปแล้ว 3.18 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือคาดว่าจะกู้ในปีงบประมาณ 2564 ตามความต้องการใช้เงินของรัฐบาลในแต่ละโครงการ