มองให้ดี จะเห็นโอกาส 'ปฏิรูปการศึกษา'
สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นักศึกษาหลายแห่ง หากผู้ใหญ่ใช้ไม้แข็ง ตึงเกินไป รังมีแต่จะทำให้ความไม่เข้าใจกัน ในสิ่งที่เรียกว่า ช่องว่างของ Generation จะห่างออกไป
มองกลับกัน หากผู้ใหญ่ใช้โอกาสนี้ ฟัง สังเคราะห์ สกัดข้อเสนอของวัยโจ๋ มาเป็นไอเดียในการ “ปฏิรูปการศึกษา” ก็จะตอบโจทย์ในสิ่งที่หลายรัฐบาลพยายามทำ คือ การเรียนนอกตำรา “คิดเป็น” มากกว่า ท่องจำ แม่นยำ
ข้อมูลจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ระบุในการแถลงภาวะสังคมไตรมาส 2/2563 สะท้อนให้เห็นภาพของปัญหาของการศึกษาว่า ในช่วงสถานการณ์โควิดระบาด ทำให้ประชากรวัยเรียนในทุกระดับชั้นของประเทศไทยได้รับผลกระทบประมาณ 14 ล้านคน ซึ่งกลุ่มนักเรียนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการหลุดออกจากระบบห้องเรียนคือ นักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานประมาณ 11.47 ล้านคน
แม้มีความพยายามจะใช้การเรียนออนไลน์ ก็ไปเจอปัญหาใหญ่ คือ 1.ความไม่พร้อมด้านสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้นอกห้องเรียน และการที่ต้องรับภาระในการจัดหาอุปกรณ์ในการเรียนรู้ โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนยากจน รวมถึงการเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต และความเสถียร และความเร็วของอินเทอร์เน็ต
- ความไม่พร้อมทั้งรูปแบบและเนื้อหาการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบ DLTV ของครูผู้สอนซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพในการเรียนรู้ และการขาดสมาธิและทักษะที่มีความจำเป็นด้านอื่น ๆ อาทิ การเรียนรู้ร่วมกัน การมีปฏิสัมพันธ์ การทำงานเป็นทีม ทักษะด้านอารมณ์ และทักษะด้านการสื่อสารของนักเรียน
- เด็กบางส่วนไม่ได้รับการดูแลอย่างเพียงพอโดยเฉพาะนักเรียนในกลุ่มครัวเรือนยากจน ซึ่งจะไม่ได้รับอาหารและอาหารเสริมจากทางโรงเรียน และนักเรียนกลุ่มพิเศษ นักเรียนผู้พิการ ผู้มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านต่างๆ ที่ผู้ปกครองไม่สามารถดูแลได้อย่างใกล้ชิด หรือต้องขาดรายได้จากการต้องมาดูแลกลุ่มเด็กดังกล่าว
สภาพัฒน์ฯ จึงมีข้อเสนอการปรับรูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต คือ
1.การเตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอนผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม
- การจัดสื่อการเรียนการสอนที่จูงใจการเรียนรู้ รูปแบบการสอนที่หลากหลายเหมาะสมกับวัยและช่วงเวลา และ 3.การพัฒนาเทคนิควิธีการสอน กระบวนการจัดการเรียนการสอน และการเตรียมความพร้อมของครูผู้สอนในการจัดการเรียนการสอนผ่านเทคโนโลยี
นอกจากนี้ยังมี บทความเรื่อง “มหาวิทยาลัยร้าง : วิกฤตอุดมศึกษาไทย” ที่เขียนถึง สิ่งที่ต้องปรับตัวของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นความท้าทายที่นำมาซึ่งการปรับตัวของสถาบันการศึกษาเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ ท่ามกลางจำนวนคนเรียนลดลง จึงแนะนำถึงความจำเป็นปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในอนาคต
อย่างเช่น ทบทวน ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้เรียนและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน การจัดการเรียนการสอนที่เน้นภาคปฏิบัติ การพัฒนาหลักสูตรเพื่อดึงดูดนักเรียนต่างชาติเข้ามาชดเชยปริมาณนักศึกษาไทยที่ลดลง การเปิดกว้างสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรอาชีพ เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ต่างๆ แก่คนทำงาน ผู้ว่างงาน และผู้สูงอายุ
การนำนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนมาใช้ในมหาวิทยาลัย อาทิ การจัดการศึกษารูปแบบใหม่ที่ให้นักศึกษาสามารถจัดองค์ประกอบของวิชาเรียนได้ การพัฒนารายวิชาใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์บริบทการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในระบบการเรียนการสอนมากขึ้น
แล้วนอกจากนี้ ผู้ใหญ่ก็ลองคิดนอกกรอบจากที่สภาพัฒน์ฯ เสนอ ด้วยการนำข้อเสนอโดนๆ ของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ไอเดียในการปฏิรูปการศึกษา มาดำเนินการดู เราอาจจะได้โมเดลการศึกษาที่ตอบโจทย์ยุคสมัยก็เป็นไปได้นะเออ