'เรือดำน้ำ' ผ่านสภา 'รัฐบาล' ดำดิ่งลงเหว

'เรือดำน้ำ' ผ่านสภา 'รัฐบาล' ดำดิ่งลงเหว

ดูจะเริ่มเดินไม่เป็นทรงเข้าเสียแล้ว สำหรับท่าทีของ “รัฐบาล” ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติซ้อนวิกฤติ ก็ยังจะมีปัจจัยบวกเพิ่มเข้ามาทำลายความศรัทธาของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ

 เมื่อคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ซึ่งเป็นคณะย่อยของคณะกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 มีมติเห็นชอบให้ซื้อ ‘เรือดำน้ำอีก 2 ลำ วงเงิน 22,500 ล้านบาท ทั้งที่เอ็มโอยูกับทางการจีนก็ไม่ได้เขียนมัดขนาดว่าจะขยับปรับเปลี่ยนอะไรไม่ได้เลย

แถมส.ส.ฝ่ายค้าน โดย ยุทธพงศ์ จรัสเสถียรส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ที่ออกโรงแฉเปิดเอกสารพบว่า ไม่ใช่สัญญาจีทูจีแต่เป็นเพียง ข้อตกลงและสัญญาที่เซ็นไปเพื่อการจัดซื้อเรือดำน้ำลำแรกเท่านั้น โดยไม่มีข้อผูกมัดลำที่ 2 และ 3

นอกจากนั้น ผู้ที่ลงนามในสัญญาฝ่ายไทยคือ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร.ที่ขณะนั้น ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ ขณะที่ฝ่ายจีน ผู้ที่ลงนาม คือบริษัทเอกชน ไม่ใช่รัฐบาลจีน

เรื่องนี้จึงกลายเป็นการเติมเชื้อไฟให้กลุ่มผู้ชุมนุมนำไปขยายผล และเพิ่มความชอบธรรมในการออกมาขับไล่รัฐบาลได้เป็นอย่างดี

 

ลำพังการใช้งบประมาณแผ่นดินจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” ในช่วงเวลาปกติ ปฏิกิริยาทางสังคมก็ต่อต้านอย่างหนักอยู่แล้ว ถ้ายังจำกันได้ กว่า “เรือดำน้ำ” ลำแรกจะผ่านการอนุมัติก็ลำบากลำบน ต้องฝ่าแรงต้านสาหัสขนาดไหน

ส่วนอีก 2 ลำ ล่าสุดนี้ ที่มีการพิจารณาใช้งบประมาณก้อนใหญ่ซื้อในช่วงนี้ ที่สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศกำลังย่ำแย่ จากการระบาด “โควิด-19” คนทั่วไป พนักงานบริษัทต่างถูกเลิกจ้าง ถูกตัดเงินเดือน ผู้ประกอบการ ต่างประสบภาวะเงินขาดมือ ธุรกิจขาดสภาพคล่อง โดยยังไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในเร็ววัน แถม “กระทรวงการคลัง” ตั้งแท่นกู้เงินกว่า 2 แสนล้าน

อารมณ์ของผู้คนทั่วไปถึงพลุ่งพล่าน ไม่ได้สนใจเหตุผลความจำเป็นตามที่ผู้เกี่ยวข้องอ้างกัน เรียกได้ว่า เติมฟืนเข้าไปในกองไฟให้โหมแรงขึ้นไปอีก

 ถึงแม้ยังมีความหวังว่า “กมธ.งบฯ ชุดใหญ่” จะเบรกการซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำนี้ไว้ก่อน แต่แนวโน้มจะเป็นไปได้แค่ไหน ในเมื่อเรื่องนี้ผู้มีอำนาจตั้งแต่ “ยุค คสช.” พยายามเดินหน้าผลักดันอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู มาถึงช่วงนี้ก็ยังไม่ละความพยามยามจะซื้อ 2 ลำที่เหลือ

ประกอบกับเสียงข้างมาก ทั้งในคณะกรรมาธิการชุดใหญ่ และในสภาฯ นั้นรัฐบาลได้คุมไว้เบ็ดเสร็จแล้ว ครั้นจะไปหวังเสียงงูเห่าจากพรรคร่วมรัฐบาลนั้นก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากเรื่องการโหวตกฎหมายงบประมาณ ถือเป็นเรื่องเกี่ยวกับมารยาททางการเมือง ซึ่งถ้าพรรคร่วมรัฐบาลไม่ยอมให้ผ่านขึ้นมา ก็คงอยู่ด้วยกันไม่ได้

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่รู้ว่า บิ๊กรัฐบาลกำลังชะล่าใจ หรือประมาทกับอารมณ์ของคนในสังคมหรือไม่ อย่างไร ที่ผ่านมาก็มักจะเกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้น ซึ่งสร้างคำถามและข้อสงสัยเรื่องแล้วเรื่องเล่า แต่สุดท้ายก็ปล่อยให้เรื่องเงียบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น และเรื่อง “เรือดำน้ำ” ก็กำลังจะพาความนิยม “รัฐบาล” ตกต่ำด่ำดิ่ง

“บิ๊กรัฐบาล” อาจประเมินแล้วว่า แรงต้านจากการชุมนุม ให้ “ยุบสภา” หรือ “แก้รัฐธรรมนูญ” ที่มีทั้งม็อบและ “พรรคร่วมรัฐบาล” เรียกร้องนั้น ถึงอย่างไรก็ยังมีจังหวะให้ยื้อเวลาอยู่ในอำนาจต่อจนครบเทอม 4 ปี แน่นอน เรื่องนั้นไม่มีใครเถียง ถ้าคิดถึงเฉพาะเกมระยะสั้น

ประเด็นการ “แก้รัฐธรรมนูญ” ทั้งผู้ชุมนุมและพรรคร่วมอย่าง “ประชาธิปัตย์” ต่างจ้องโละอำนาจ “ส.ว.” ที่เป็นอุปสรรคของประชาธิปไตย ที่สามารถโหวตเลือก “นายกฯ” ได้ ซึ่งผู้มีอำนาจจะยื้อประเด็นนี้ได้อีกแค่ไหน เมื่อการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไขของ “ประชาธิปัตย์” ที่ต่อรองร่วมรัฐบาล

หากการเลือกตั้งครั้งหน้า ในวันที่ พลังประชารัฐไร้ ส.ว.เป็นนั่งร้านค้ำยันอำนาจ วันนั้นจะยังมีนายกฯชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชาหรือไม่ ประชาชนจะเป็นคนบอกเอง

แล้วสิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องถามคนใน “พลังประชารัฐ” โดยเฉพาะพวกนกรู้ทางลม เลือกข้างผู้ชนะถูกมาเสมอนั้น การเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไป คนพวกนี้ยังจะร่วมหัวจมท้ายกันอีกหนหรือไม่ ในวันที่ความป็อปปูลาร์ของรัฐบาลวันนี้ ต่างจากช่วงก่อนเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 และนับวันก็ยิ่งหดหายลงไปเรื่อยๆ แบบนี้

อำนาจที่เริ่มเสื่อมลงไปทุกที หากไม่เริ่มต้นหาทางแก้ไขตั้งแต่วันนี้ ก็คงต้องโบกมือลากันในอีกไม่ช้า