'บัญญัติ' ชำแหละ 7 ปมปัญหารธน.2560
"บัญญัติ" ชำแหละ 7 ปมปัญหารธน.2560 ทำลายพรรคการเมือง เตือนยิ่งปล่อยนานยิ่งไม่เป็นประชาธิปไตย
คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคเป็นประธาน ได้จัดเสวนาออนไลน์ผ่านระบบ Zoom หัวข้อ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทางออก ทางรอด" โดย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานกำหนดประเด็น ข้อเสนอและรายละเอียดการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตอนหนึ่งว่า การพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่ควรมอง 3 ส่วน คือ 1. ที่มาของรัฐธรรมนูญ 2. กระบวนการจัดทำ และ 3. เนื้อหาที่ปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งในเรื่องเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีอย่างน้อย 7 ประเด็นที่น่าจะนำไปสู่การพิจารณาดังกล่าว
ประเด็นที่ 1 เนื้อหาที่สร้างความยุ่งยากหลายเรื่อง เช่น การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ กล่าวได้ว่า เป็นการเลือกตั้งที่ใช้เวลาในการประกาศผลช้าที่สุด เพราะมีสูตรการนับคะแนนที่ซับซ้อน
ประเด็นที่ 2 ปัญหาจากเนื้อหาในรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยประชาธิปไตยจะเข้มแข็งได้ ก็ต่อเมื่อมีพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง แต่ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่บอกว่า ทุกคะแนนมีความหมาย แต่เป็นระบบการเลือกตั้งที่นำไปสู่การเน้นคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง มากกว่าที่จะเน้นพรรคการเมือง
ประเด็นที่ 3 ผลของระบบเลือกตั้ง เนื่องจากเมื่อมีการให้ความสำคัญกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ก็จะทำให้เกิดการประมูลตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต พรรคการเมืองจึงกลายเป็นเครื่องมือของทุนและนำไปสู่ “การใช้ทุนสร้างพรรค ใช้พรรคยึดกุมอำนาจรัฐ แล้วใช้อำนาจรัฐเพิ่มทุน”
ประเด็นที่ 4 การที่ระบุว่าคะแนนเสียงไม่ตกน้ำก่อให้เกิดอันตราย เพราะเมื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแพ้ แต่มีการนำคะแนนที่ได้มาคำนวณบัญชีรายชื่อพรรค ก่อให้เกิดการซื้อเสียง
ประเด็นที่ 5 ระบบไพรมารี่โหวต ที่มีการกำหนดค่าสมาชิกพรรค หากสอบถามสาขาพรรคการเมืองต่างๆ ในเวลานี้ ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ ก็กลายเป็นปัญหาได้
ประเด็นที่ 6 ในเรื่องเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ เรื่องความยากในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับไหนเลยที่บอกว่าแม้จะได้รับคะแนนเสียงจากฝ่ายข้างมากเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขแล้ว ยังจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนเห็นชอบด้วยจากส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หลักการนี้ไม่ได้เดินตามหลักของประชาธิปไตยที่ว่าใช้เสียงข้างมากเป็นหลัก
ประเด็นที่ 7 เนื้อหาในบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับอำนาจของส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นปัญหาที่ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าไกลจากความเป็นประชาธิปไตย
นายบัญญัติ กล่าวตอนท้ายว่า เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาลในครั้งนี้ พรรคฯ จะได้ผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้ เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่แบบที่เคยทำมาแล้วในปี 2539 ซึ่งเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 นอกจากนี้ ควรเปิดโอกาสให้พวกเขาเข้ามามีบทบาทร่วมด้วย