'กสทช.' แจง 'กมธ.ดีอีเอส' ยันจ่อยกเลิกสัญญาทีโอทีหลังมีปัญหาหนัก รับไม่ดูพื้นที่ทับซ้อนให้ดี
"กมธ.ดีอีเอส" เรียก "กสทช." แจงปัญหาเน็ตชายขอบ "กัลยา" ชี้ โลกเข้าสู่ยุค5G โครงข่ายต้องครอบคลุม "เศรษฐพงษ์" ระบุ กสทช.อุ้มไม่ไหวอย่าไปอุ้มไว้ ถึงเวลาควรปล่อย - กสทช. ยันเตรียมยกเลิกสัญญาทีโอทีหลังมีปัญหาหนัก ยอมรับความผิดพลาดไม่ดูพื้นที่ทับซ้อนให้ดี
เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 63 น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงการประชุมกมธ.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า กมธ.ได้ติดตามความคืบหน้าในการให้บริการสัญญาณอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ชายขอบ โดยมีตัวแทนจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้าชี้แจง ซึ่งเรื่องดังกล่าว กมธ.ได้รับการร้องเรียนว่าเสาสัญญาณที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และ อ.พล จ.ขอนแก่น ไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งการขับเคลื่อนเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันที่เข้าสู่ยุค 5Gนั้น จะทำได้ยากมากหากขาดโครงข่ายที่สมบูรณ์ การร้องเรียนในลักษณะดังกล่าวนี้มีเข้ามาเรื่อยหลายเรื่องมาก ดังนั้น กสทช.ควรเดินหน้าสร้างโครงข่ายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ยิ่งพื้นที่ห่างไกลหรือชายขอบก็ควรจะมีโครงข่ายที่ดีเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีช่องทางในการรับรู้ข่าวสารและการใช้การอินเตอร์เน็ตเพื่อใช้ในการเรียนรู้และพัฒนาทั้งด้านการเรียน การใช้ชีวิตหรือการประกอบอาชีพ และประชาชนก็อยากจะรู้ว่าเสาสัญญาณหรือศูนย์ uso net จะสามารถใช้ได้เมื่อไร ขอให้ทาง กสทช. กำหนดระยะเวลาที่แน่นอน กมธ.อยากได้คำตอบตรงนี้
ด้าน พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกมธ. กล่าวว่า ตนเป็นห่วงว่าอะไรที่ทาง กสทช.อุ้มไม่ไหวอย่าไปอุ้ม ประชาชนเขาเดือดร้อนที่ไม่สามารถใช้งานได้ ทางกมธ.ก็เหนื่อยที่จะติดตามเรื่อง เพราะผ่านมานานมากแล้ว ตนก็เข้าใจว่าทางกสทช.ก็เหนื่อย เราตามเรื่องนี้กันมานาน น่าจะสมเหตุสมผลในการผ่อนผัน กสทช.ควรถึงเวลาปล่อย อย่าไปอุ้มอย่าไปช่วยผู้ประมูลงานมากจนเกินไป หากไปช่วยเขามาก กสทช.จะโดนเต็มๆ ตนขอพูดตรงๆด้วยความหวังดี
ขณะที่ นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษากมธ. กล่าวว่า เราตามเรื่องนี้มานานหลายครั้งแล้ว ตนอยากทราบว่าทาง กสทช.จะมีวิธีการอย่างไร เพราะความเดือดร้อนตกอยู่กับประชาชน สัญญาที่ทำไว้กับผู้ประมูลโครงการนี้ ต้องศึกษาให้ชัดเจน ใครได้เปรียบใครเสียเปรียบ และ กสทช.ควรมีมาตรการที่ชัดเจน ทั้งนี้ตนสงสัยว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของกมธ.มีมากขนาดไหน ขออะไรไปก็ติดขัดหมด การทำแบบนี้อาจจะถูกมองว่าเอื้อกับบริษัทรับจ้าง เกรงว่าหากเรื่องนี้เข้ากมธ.ชุดอื่นๆ เช่น กมธ.ป.ป.ช. อาจจะเป็นปัญหาใหญ่ได้ ทั้งนี้กสทช. ต้องกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจน หากผู้รับเหมาทำไม่เสร็จ ควรหาคนอื่นมาทำให้เสร็จแทน และพื้นที่ทับซ้อนจะทำยังไงต้องเอาให้ชัด ผลประโยชน์ของประเทศต้องมาก่อน ตนขอฝากอยากให้ทุกอย่างชัดเจนโดยเร็ว
นายนิคม บุญวิเศษ ที่ปรึกษากมธ. กล่าวว่า ตนสงสัยว่าทำไมก่อนที่จะทำโครงการนี้ไม่ขออนุญาติจากกรมป่าไม้และกรมอุทยานก่อน และทราบว่าพื้นที่นั้นเป็นที่ของกรมป่าไม้หรือกรมอุทยานหรือไม่ มีการสำรวจก่อนหรือไม่ และตามสัญญาหากก่อสร้างไม่เสร็จตามกำหนด ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
ทางด้านตัวแทน กสทช. ชี้แจงว่า เรื่องการสำรวจพื้นที่นั้น เราได้มีการสำรวจในระดับหนึ่งตั้งแต่ขั้นตอนทำ TOR และได้ติตต่อกับทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในแต่ละพื้นที่ดูพื้นที่ให้ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนในพื้นที่นั้นๆ แต่บางจุดเราไม่ทราบว่าเป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้และกรมอุทยาน แต่เมื่อทราบแล้วเราได้ทำหนังสือขออนุญาตทันที ซึ่งทางกรมก็ได้มีการทยอยอนุญาตมาเรื่อยๆ เหลืออีกประมาณ 1.48% เท่านั้น เรายอมรับว่าเป็นความผิดพลาดที่ไม่ได้ศึกษาพื้นที่อย่างละเอียด
ส่วนปัญหาที่ผ่านมาของโครงการนี้มี 10 สัญญา โดย 3 สัญญาเป็นของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่มีปัญหา โดยเฉพาะศูนย์ uso net ที่เสร็จสมบูรณ์ 138 แห่ง ยังเหลืออีก 253 แห่งที่ยังไม่สมบูรณ์ 100% ซึ่งการเปิดบริการตามสัญญาคือต้องเสร็จทั้งหมดทุกแห่ง ทั้งนี้ทาง กสทช.ได้ดำเนินการแจ้งไปยัง บริษัท ทีโอที แล้ว ซึ่งทาง ทีโอที แจ้งว่าจะส่งข้อมูลทั้งหมดมาให้เราในวันที่ 21 ส.ค. ซึ่งเรายืนยันว่า ได้แค่ไหนก็แค่นั้น และจะดำเนินการฟ้องร้องและยกเลิกสัญญากับทาง ทีโอที ที่ทำไม่ได้ตามสัญญาต่อไป