'ทิพานัน' ตอก 'ปิยบุตร' เป็น 'นักกฎหมาย' ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย
"ทิพานัน" วอน "ปิยบุตร" กินยาดับแค้น ก่อนฉีดยาแรง ยุบศาลรธน. ตอกเป็น "นักกฎหมาย" ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ย้อนถามใช้งบ "หมื่นล้าน" แก้ รธน. เอาไปช่วยพัฒนาความเหลื่อมล้ำได้หลายมิติ
เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 63 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส. กทม. จอมทอง-ธนบุรี และอดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และแกนนำคณะก้าวหน้า กล่าวเสนอทางเลือกให้ฉีดยาแรงยุบศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ทำให้เข้าใจได้ว่า นายปิยบุตร มาทำงานการเมืองเพื่อผลประโยชน์และตอบสนองความแค้นส่วนตนหรือไม่ ข้อเสนอต่างๆ แม้จะออกมาในรูปแบบแอบอ้างหลักวิชาการ แต่อาจแฝงจุดประสงค์เพื่อประโยชน์ส่วนตน ดังนั้นก่อนที่จะฉีดยาแรงยุบศาลรัฐธรรมนูญ อยากเสนอให้นายปิยบุตร "ทานยา" ก่อน หาที่มีฤทธิ์ดับแค้นเพื่อกำจัดอวิชชา ซึ่งจะทำให้ นายปิยบุตร สามารถมองด้วยปัญญาเห็นสาเหตุความผิดพลาดต่างๆ ที่ผ่านว่าอาจเกิดจากการหลงอัตตา ความไม่รู้กฎหมาย ความผิดพลาดของอดีตพรรคอนาคตใหม่อาจเกิดจากการใช้กฎหมายผิดฉบับของ นายปิยบุตร เอง ไม่ได้เกิดเพราะระบบ กฎหมาย หรือศาลรัฐธรรมนูญเลย หรือแม้การยุบพรรคการเมืองที่ผ่านมา ตามที่ นายปิยบุตร กล่าวอ้าง ก็ล้วนเกิดจากการกระทำความผิดหรือฝ่าฝืนของกฎหมายรัฐธรรมนูญของพรรคนั้นๆ เองทั้งสิ้น มิได้เกิดจากศาลหรือองค์กรตุลาการใดๆ ไปจับมือให้ทำผิด สิ่งที่ นายปิยบุตร ต้องตระหนักคือ นักกฎหมายทุกคนต้องศึกษากฎหมายให้ท่องแท้ ให้แตกฉาน และกระทำหรือให้คำปรึกษาให้อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย หาก นายปิยบุตร ไม่เปลี่ยนตัวเอง ความผิดพลาดก็ยังจะเกิดขึ้นวนเวียนต่อไป
"ประชาชนและนักกฎหมาย ล้วนตระหนักดีว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรตุลาการ เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่มีประสิทธิภาพต่อระบอบการปกครอง เป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนโดยหากบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ก็สามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 213 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 อีกทั้งยังมีหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยว่ากฎหมายหรือร่างกฎหมายมีบทบัญญัติที่ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากขัดกับรัฐธรรมนูญก็จะใช้บังคับประชาชนไม่ได้ และศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นกลไกสำคัญที่ตรวจสอบองค์กรของรัฐเพื่อให้ใช้อำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระตามมาตรา 210 อีกด้วย" น.ส. ทิพานัน กล่าว
น.ส. ทิพานัน กล่าวว่า สิ่งที่น่าฉุกคิดคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้งบประมาณเกือบหมื่นล้านบาทดังนั้นต้องแก้ไขในประเด็นเพื่อประโยชน์ของประชาชนจริงๆ หากนายปิยบุตรต้องการเพียงเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะส่วนที่ตนไม่ได้ประโยชน์ ไม่พอใจ แต่จะเลือกเก็บมาตราที่ตัวเองได้ประโยชน์ไว้เพราะแทบไม่เคยเสนอแตะถึงการแก้ไขที่มาของ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ที่พรรคพวกนายปิยบุตรได้ประโยชน์ และการยกเลิกเอกสิทธิ์ ส.ส. ที่นายปิยบุตรเคยใช้อ้างคุ้มกันตนเพื่อเลื่อนคดีหลายครั้งเลยก็ดูเหมือนจะเกลียดตัวกินไข่ การมุ่งโจมตีเพื่อเปลี่ยนแปลงเฉพาะส่วนในรัฐธรรมนูญที่ตนเองต้องการ หรือเสนอยุบองค์กรที่เคยตัดสินการกระทำความผิดของนายปิยบุตรและพรรคอนาคตใหม่ เป็นข้อเสนอที่เกิดจากความแค้นส่วนตัวใช่หรือไม่
น.ส. ทิพานัน กล่าวว่า นายปิยบุตรดูหมกมุ่นกับความแค้นส่วนตน อยากแนะนำว่าควรใช้เวลาว่างทำแก้ไขความความคิดตนเองก่อนแก้ไขเรื่องอื่นๆ ควรทำประโยชน์เพื่อสังคม ซึ่งเป็น "ยาดี" อาจช่วยดับไฟแค้นได้ เช่นลองไปลงพื้นที่ช่วยเหลือชุมชนบ้าง ประชาชนเขาต้องการให้ช่วยเรื่องปากท้อง อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อยากให้นายปิยบุตรลองคิดตามว่าในห้วงเวลาวิกฤติพิษโควิด-19 นี้ งบประมาณในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกือบหมื่นล้านบาท ที่ต้องใช้ตามที่นายปิยบุตรเสนอ ถ้าเอาไปฟื้นฟูชุมชน สร้างรายได้ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้หลายมิติ หรือให้ทุนนักเรียน นักศึกษาด้อยโอกาส พัฒนาระบบการศึกษาไทย ก็เป็นประโยชน์ได้มากกว่า