ประชาธิปไตยไทย (ยัง)ไปไม่ถึงฝัน
เปิดบทวิเคราะห์ ส่องปัจจัยที่ขัดขวางไม่ให้ประชาธิปไตยของประเทศไทยไปถึงฝั่งฝัน และทำไมแนวโน้มความเป็นประชาธิปไตยของไทยถึงไม่เดินตามรอยแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศพัฒนาแล้ว ตามตัวแบบทางสถิติของโรเบิร์ต แบร์โร
เมื่อหลายปีก่อน โรเบิร์ต แบร์โร นักเศรษฐศาสตร์รุ่นเดอะ ตีพิมพ์ผลงานชื่อว่าปัจจัยกำหนดระดับความเป็นประชาธิปไตย เมื่อนำตัวแบบทางสถิติของแบร์โรมาพยากรณ์แนวโน้มความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย จะได้ผลว่าถ้าประเทศไทยเดินตามรอยแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศพัฒนาแล้วทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะแนวปฏิบัติด้านการเคารพสิทธิเสรีภาพ การใช้หลักนิติธรรม การยอมรับความเห็นที่หลากหลาย การใช้กลไกที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยน่าจะเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ได้ภายในปี 2540 แต่ภาพความเป็นจริงในวันนี้มันช่างแตกต่างกับผลการพยากรณ์ของแบร์โร แบบหนังคนละม้วนเลยทีเดียว
อะไรคือสิ่งที่ทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงแตกต่างจากผลการพยากรณ์?
โดยหลักการแล้วในระยะยาวปัญหาที่ขัดขวางไม่ให้ประเทศไปถึงฝั่งฝันเกิดขึ้น 2 ช่วงเวลา คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งและปัญหาที่เกิดขึ้นหลังเลือกตั้งเสร็จแล้ว
ปัญหาก่อนการเลือกตั้งคือ ทำอย่างไรประชาชนจึงจะสามารถแสดงออกถึงความต้องการที่แท้จริงพรรคการเมืองได้รับรู้ มีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายและผู้สมัครอย่างเพียงพอในการตัดสินใจเลือกผู้แทนอย่างมีเหตุมีผล ไม่ใช่ความชอบส่วนตัวเป็นหลัก
การทำเช่นนี้เป็นการส่งสัญญาณให้พรรคการเมืองรู้ว่าประชาชนจะเลือกพรรคที่ให้ความสำคัญกับความต้องการของประชาชน ไม่ได้เลือกเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ระยะสั้นหรืออามิสสินจ้าง การเลือกอย่างมีเหตุมีผลยังหมายความว่า พรรคการเมืองที่แสวงหาคะแนนนิยมด้วยการใส่ร้ายป้ายสี หรือสร้างความแตกแยกในสังคม ย่อมเป็นที่รังเกียจเลยอยู่ยาก
ด้วยเหตุนี้ ทางเลือกเดียวที่พรรคการเมืองจะชนะการเลือกตั้งได้ก็คือ พรรคต้องนำเสนอนโยบายที่ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชนส่วนใหญ่ พรรคไหนที่ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ย่อมตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง
ดูจากภาพรวม ถ้าหากทุกพรรคมีนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ในสังคม นโยบายหลักของแต่ละพรรคจะมีบางเรื่องที่คล้ายกันต่อให้เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ความขัดแย้งเชิงนโยบายย่อมมีน้อย โอกาสที่รัฐบาลจะอยู่ครบเทอมจึงเป็นไปได้สูง
หากพรรคการเมืองไหนต้องชนะการเลือกตั้ง ก็ต้องทำการบ้านมาอย่างละเอียด สามารถลำดับประเด็นได้ว่านโยบายแต่ละเรื่องมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน นโยบายไหนที่มีคนเห็นพ้องต้องกันมากจะเป็นนโยบายสำคัญลำดับต้นๆ นโยบายไหนที่มีคนให้ความสำคัญน้อยลงก็ให้ความสำคัญลดหลั่นกันลงมา
ส่วนปัญหาหลังจากเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง คือ การทำให้พรรคการเมืองรักษาสัญญาที่ให้ไว้ก่อนการเลือกตั้ง การใช้กฎหมายบังคับพรรคการเมืองให้รักษาสัญญาทำได้ยากมากในทางปฏิบัติ เพราะพิสูจน์ยากว่าพรรคการเมืองได้ทำตามสัญญาหรือยัง พรรคการเมืองอาจอ้างว่ากำลังดำเนินการอยู่แต่ยังไม่เสร็จสิ้น แล้วคอยผัดวันประกันพรุ่งเพื่อซื้อเวลา ซ้ำร้ายหน่วยงานที่จะเข้ามาตรวจสอบเองก็อาจถูกแทรกแซงโดยตัวแทนของพรรคการเมืองที่กุมอำนาจรัฐเอาไว้
ด้วยเหตุนี้ การลงโทษที่ได้ผลที่สุดในระยะยาวคือ การพร้อมใจกันไม่เลือกพรรคการเมืองนั้นอีกในการเลือกตั้งครั้งต่อไป หากไม่รักษาสัญญาที่เคยให้ไว้ การทำเช่นนี้จะบังคับให้พรรคการเมืองต้องคิดยาว ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ระยะสั้น ถึงบางคนในพรรคอาจหวังรวยด้วยการเล่นการเมืองเพียงสมัยเดียวแล้วโกงกินสะบั้นหั่นแหลก แต่สมาชิกพรรคคนอื่นที่อยากอยู่ยาวก็จะรวมตัวกันคอยคัดค้าน แม้จะไม่ได้แก้ปัญหาการโกงกินได้อย่างสมบูรณ์ อย่างน้อยก็ยังสามารถควบคุมไม่ให้เหล่าคนโกงได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว
อย่างไรก็ตาม สภาพความเป็นจริงในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนามีความแตกต่างจากเงื่อนไขที่ใช้ในการวิเคราะห์อยู่พอสมควร เพราะในประเทศเหล่านี้ ประชาธิปไตยอาจเป็นเพียงฉากหน้าของกลุ่มผลประโยชน์ที่ต้องการเข้าถึงมีอำนาจเหนือกลไกของรัฐเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเอง การเลือกตั้งจึงเป็นกระบวนการใช้เงินเพื่อ “แต่งตั้ง” ตนเองและพวกพ้องเข้าสู่อำนาจ เป็นเพียงการลงทุน เพื่อการเปิดประตูไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้องให้คุ้มค่ากับการลงทุนเท่านั้นเอง
เมื่อเอาประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้ง บวกกับการมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการควบคุมกลไกของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลประเทศไหนก็ไม่จำเป็นต้องคิดถึงผลประโยชน์ของประชาชนในชาติอีกต่อไป ภารกิจของรัฐบาลมีเพียงกอบโกยให้มากที่สุด กอบโกยให้รวดเร็วที่สุด เพื่อสะสมทรัพยากรสำหรับแต่งตั้งตนเองกลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้ง ภายใต้วงจรเช่นนี้ การเลือกตั้งจึงกลายเป็นทางตันของกระบวนการประชาธิปไตย
ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เมื่อใดที่ทางออกกลายเป็นทางตัน แรงกดดันที่เกิดขึ้นในสังคมจะระเบิดออกมาในหลายรูปแบบ แต่ไม่ว่าพลังของสังคมจะแสดงออกมารูปแบบใด รัฐบาลที่เจอกับเหตุการณ์แบบนี้หากรับมือได้ไม่ดีก็มีสิทธิเสียท่าตกที่นั่งลำบากได้อยู่เหมือนกัน