ร่างแก้ รธน. ฉบับประชาชน เสี่ยง 'ตกขบวน' สภา
รัฐสภา โดยนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา นัดสมาชิกประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คือ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
ที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านยื่นเสนอ 5 ฉบับ กับ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล ยื่นเสนอ 1 ฉบับ ซึ่งนอนรอในระเบียบวาระพิจารณา วันที่ 23-24 กันยายน 2563 นี้แล้ว
ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของภาคประชาชน ที่ร่วมเข้าชื่อ 100,732 รายชื่อ โดยมี “คณะทำงานของไอลอว์” เป็นโต้โผนั้น ตามกฎหมายแล้วต้องใช้เวลาพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อ ก่อนเสนอให้ประธานรัฐสภาบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ
แน่นอนว่า วันที่ 23-24 กันยายน นี้ รัฐสภาจะไม่มีโอกาสพิจารณาเพื่อรับหลักการหรือไม่ ในที่ประชุม
แต่แม้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน จะไม่ได้รับการพิจารณาในวาระครั้งนี้ แต่หาใช่ว่า เนื้อหาที่ถูกเสนอนั้นจะ “ตกขบวน” เพราะตัวแทนของพรรคฝ่ายค้าน “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว”ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย บอกว่า ข้อมูลเหล่านั้นสามารถนำไปให้กรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาประกอบได้
แต่นั่นเป็นเพียงความคิดเห็นที่ ไม่มีบทบัญญัติทางกฎหมายใดรองรับ หากชั้นกรรมาธิการ(กมธ.)จะพิจารณาจริง ก็ต้องถกกันในรายละเอียด
สำหรับเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับภาคประชาชน มีทั้งสิ้น 13 มาตรา เนื้อหาโดยรวม พอสรุปให้เห็นภาพได้ว่า
เสนอยกเลิกอย่างเด็ดขาด ไม่นำกลับมาใช้หรือบัญญัติอีก จำนวน 14 มาตรา ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ บัญชีนายกรัฐมนตรี ขั้นตอนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ อำนาจพิเศษของ ส.ว. ต่อการเร่งรัดงานปฏิรูปประเทศ อำนาจคณะรัฐมนตรีต่อการออกกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ ช่องทางนายกรัฐมนตรีคนนอกโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง การนิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหารไม่ต้องรับผิด รวมถึงยกเลิกหมวดปฏิรูปประเทศ
ปรับปรุงเนื้อหาเล็กน้อย 4 มาตรา ได้แก่ มาตรา 142 ว่าด้วยการทำงบประมาณที่ต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาต่างๆ มาตรา 159 ว่าด้วยการเลือกนายกฯในสภาฯ ที่ตัดข้อกำหนดให้เลือกบุคคลจากบัญชีของพรรคการเมือง ความมุ่งหมายคือ สื่อถึง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ” ขาดคุณสมบัติและพ้นจากนายกฯ ทันที และเมื่อต้องเลือกนายกฯ ใหม่ คือเลือกจากส.ส.ในสภาฯ
ทำให้บุคคลที่เคยถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ ตามบัญชีของพรรคการเมือง ได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ได้รับการพิจารณาให้เป็นนายกฯ
มาตรา 162 ว่าด้วย การแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่ตัดเงื่อนไข ให้สอดคล้องกับ “แผนยุทธศาสตร์ชาติ” ออกจากเนื้อหา และ มาตรา 252 ว่าด้วยข้อกำหนดที่ล็อคให้ผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งร่างเดิมกำหนดเปิดช่องทางอื่นได้ด้วย เพียงแค่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน
โละและเขียนใหม่ โดยเปลี่ยนวิธีการและรูปแบบ ใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มมาตราว่าด้วยส.ว.ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 269 ที่กำหนดให้มี 250 คนมาจากการแต่งตั้งโดย “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.”และแก้ไขให้มีส.ว.จำนวน 200 คนมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และสัดส่วนส.ว.ในแต่ละจังหวัดให้คำนวณตามสัดส่วนประชากร ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540
และกลุ่มมาตราว่าด้วยการโละ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ 5 องค์กรอิสระ ผ่านการยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่เกี่ยวข้อง 7 ฉบับ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว., พ.ร.ป.วิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญ, พ.ร.ป.กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน, พ.ร.ป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ร.ป.การตรวจเงินแผ่นดิน และ พ.ร.ป.กรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) มุ่งหวังคือ “เซ็ตซีโร่” กรรมการองค์กรอิสระ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชุดปัจจุบัน
เมื่อโละองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน กำหนดให้สรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ กกต. ชุดใหม่ทันที โดยใช้กระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ พ.ร.ป.ที่ออกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว
และประเด็นสุดท้ายตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชน คือ ให้มี “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ที่มาจากการเลือกตั้งทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่
โดยกำหนดสาระสำคัญไว้ คือ 1.ให้มีส.ส.ร.200 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน 2.ต้องเลือกตั้งภายใน 90 วันนับจากที่ได้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และกกต.ชุดใหม่ 3. ใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง 4.การได้ส.ส.ร.ให้ใช้เกณฑ์คะแนนนิยทั้งประเทศ ที่คำนวณซึ่งได้ผลลัพท์ที่มากกว่าเป็นกฎคัดเลือก 5.ผู้สมัคร ส.ส.ร.กำหนดคุณสมบัติไว้แค่ มีสัญชาติไทย มีชื่อในทะเบียนบ้านในประเทศไทย
ส่วนลักษณะต้องห้ามสมัครเป็น ส.ส.ร. กำหนดไว้ว่า ห้ามเป็น ส.ส., ส.ว. หรือข้าราชการการเมือง, เป็นข้าราชการ ผู้บริหารท้องถิ่น ลูกจ้างหน่วยงานรัฐ, ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือกรรมการองค์กรอิสระ ห้ามคนที่เคยถูกคำพิพากษาว่าร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ทุจริตเลือกตั้ง บุคคลที่ถูกไล่ออกจากราชการเพราะทุจริต และห้ามบุคคลที่ถูกคุมขัง
ทั้งนี้เปิดช่องให้ คนที่ติดยาเสพติด บุคคลที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง และบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก บุคคลล้มละลาย บุคคลที่ถือหุ้นสื่อ ลงสมัครเป็น ส.ส.ร.ได้
ขณะที่ระยะเวลายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น กำหนดไว้ในเนื้อหาว่าต้องทำให้เสร็จภายใน 360 วันโดยคำนึงถึงความเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ จากนั้นให้เสนอรัฐสภาเห็นชอบทั้งฉบับ โดยไร้สิทธิแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ ส่วนคะแนนเสียงที่ใช้เป็นเกณฑ์เห็นชอบคือ “กึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่” แต่ได้รับความเห็นชอบ ให้เข้าสู่ขั้นตอนประกาศใช้
แต่หากเสียงเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่ง กำหนดให้นำร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไปทำประชามติ
อย่างไรก็ตามในเนื้อหาของภาคประชาชน ไม่ตรงกันเสียทีเดียวกับร่างของพรรคการเมืองที่บรรจุไว้ในวาระประชุมรัฐสภา แต่เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น
ซึ่งตามกระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดไว้ หลักใหญ่ คือเมื่อ ส.ส.เข้าชื่อเสนอต่อรัฐสภาแล้ว ให้พิจารณาเป็น 3 วาระ โดย คือ วาระแรก รับหลักการ วาระสองพิจารณารายมาตราและวาระสามคือการให้ความเห็นชอบหรือไม่
แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาที่เป็นรายละเอียด สำคัญ คือ การได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย ทำให้มีการกำหนดว่าในวาระแรกรับหลักการ ต้องได้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภาที่มีอยู่ ซึ่งตอนนี่มียอดรวม 738 คน แบ่งเป็นส.ว. 250 คน และส.ส. 488 คน เสียงกึ่งหนึ่งคือ 370 เสียง อย่างไรก็ดีในจำนวนนั้นต้องมีเสียงส.ว.ร่วมเห็นชอบด้วย อย่างน้อย 84 คน หรือ 1 ใน 3 ของส.ว.ที่มีอยู่ปัจจุบัน
ขณะที่รายละเอียดของการพิจารณา วาระแรกนั้น ตามข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อ 121 กำหนดไว้ด้วยว่า เมื่อมีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหลายฉบับ สามารถลงมติรับหรือไม่รับหลักการ แต่ละฉบับหรือรวมกันก็ได้ แต่เมื่อรัฐสภารับหลักการแล้ว ให้ลงมติว่าจะใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดเป็นหลักพิจารณา ในวาระสอง ทั้งนี้ยังเปิดช่องให้มีการศึกษาเนื้อหา ก่อนรับหลักการ คือ ตั้ง กรรมาธิการพิจารณา ก็ได้
ดังนั้น การประชุมร่วมรัฐสภา จึงต้องจับตาให้ดี โดยเฉพาะการรับฟังเสียงกดดันนอกสภาฯ จากภาคประชาชน ที่ต้องการให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของพวกเขา ถูกยอมรับและเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา