พักประชุมสภาฯ! หลัง ปชป.แสดงจุดยืนไม่เอากมธ.ศึกษา ก่อนรับหลักการ-ส่อถึงจุดแตกหัก
พักประชุมสภาฯ! หลังพรรคประชาธิปัตย์ แสดงจุดยืนไม่เอากมธ.ศึกษา ก่อนรับหลักการ-ส่อถึงจุดแตกหัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากที่สภาฯ มีข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) ร่วม 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายวุฒิสภา, ฝ่ายส.ส.ฝ่ายค้าน และส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ศึกษาหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้เสนอญัตติดังกล่าวและกำหนดให้ใช้เวลาศึกษาภายในกมธ.ฯ ดังกล่าว 1 เดือน จากนั้นให้นำกลับมาพิจารณาในการประชุมสภาฯสมัยหน้า คือ เดือนพฤศจิกายน ก่อนลงมติรับหรือไม่รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 6 ฉบับ
ทางด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิป ฝ่ายค้าน) อภิปรายโต้แย้งและไม่เห็นด้วยต่อการตั้งคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว เพราะไม่มีหลักประกันว่า เมื่อมีการศึกษาแล้วเสร็จ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 6 ฉบับ นอกจากนั้นตนมองว่าไม่มีความจำเป็นต้องตั้งกมธ. เพราะเสียเวลาเปล่า อีกทั้งการอภิปรายของส.ว.ช่วงที่ผ่านมาไม่พบว่ามีผู้ใดที่ไม่เข้าใจในหลักการหรือสงสัย แต่ยังทำตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญ อภิปรายเนื้อหาที่ดีกว่ากลุ่มที่เสนอญัตติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ
“โหวตวันนี้ ตกวันนี้ ดีกว่าศึกษา1เดือนแล้วตีตก เพราะถ้าเป็นแบบนั้น พวกผมเจ็บหนัก เจ็บ 2 ทาง คือ เมื่อให้พิจารณาสมัยหน้า แล้วร่างแก้ไขถูกตีตก พวกผมไม่สามารถเสนอให้รัฐสภาได้อีกตลอดปี ขณะที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของภาคประชาชน ที่เสนอโดยไอลอว์ ที่มีหลักการเดียวกัน ที่หวังว่าจะเป็นเนื้อหาให้รัฐสภาพิจารณา หลังจากที่ร่างของส.ส.ถูกตีตก ต้องตกไปตามกันด้วย เพราะหลักการเหมือนกัน แบบนี้พวกผมเจ็บ2ต่อ ดังนั้นผมคัดค้านและจะไม่ร่วมศึกษา” นายสุทิน อภิปราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากนั้น มีสมาชิกรัฐสภา อภิปรายแสดงความเห็น โดยส.ส.ฝ่ายค้าน อภิปรายแสดงความเห็นคัดค้าน และไม่ต้องการให้ตั้งกรรมาธิการเพื่อยื้อเวลา
ขณะที่นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายยอมรับว่าตั้งตนไม่ทัน เพราะทราบข่าวก่อนหน้านี้ไม่ถึง ชั่วโมง ว่าจะเสนอตั้ง กมธ.พิจารณาก่อนรับหลักการตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 121 วรรคสาม ทั้งนี้ในหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฝ่ายเห็นตรงกันและกมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาฯ ศึกษาอย่างรอบคอบ 6 เดือน เห็นร่วมกันว่าควรแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การปลดล็อคแก้ปัญหาในรัฐธรรมนูญง่ายขึ้น รวมถึงเสนอตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ให้เป็นตัวแทน เมื่อฟังการอภิปราย การเสนอแก้รัฐธรรมนูญ คือ เป้าหมายให้มีรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชน แต่การพิจารณาชั้นรับหลักการและแก้ไขมาตรา 256 เพิ่มเติมหมวดตั้งส.ส.ร.เท่านั้น ไม่มีรายละเอียดอื่นสามารถรับหลักการ และตั้งกมธ.วาระสอง ดังนั้นจึงมีเวลาศึกษา
"พรรคประชาธิปัตย์ขอแสดงจุดยืน ว่าไม่จำเป็นต้องตั้งกรรมาธิการก่อนรับหลักการ เพราะเมื่อรับหลักการแล้วสามารถตั้งกมธ.วิสามัญศึกษาและให้สมาชิกรัฐสภาแปรญัตติได้ และญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั้นถูกคาดหวังโดยประชาชนและสมาชิกรัฐสภา ดังนั้นหลังทราบข่าวนี้ เมื่อเป็นผู้เสนอร่าง ให้ตั้งกมธ.ศึกษาได้อย่างไร เพราะประเพณีของรัฐสภาหรือสภาฯ ตั้งกมธ.พิจารณาก่อนรับหลักการ คือ กฎหมายที่เสนอจากพรรคการเมือง โดยรัฐบาลไม่มีในนโยบายเท่านั้น สุดท้ายขอให้ลงมติรับหลักการ เพื่อตั้งกมธ.วิสามัญร่วมใจแก้รัฐธรรมนูญต่อไป และไม่อยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด” นายชินวรณ์ อภิปราย
ทั้งนี้เวลา 19.23 น. นายวิรัช เสนอให้พักการประชุม 10 นาที จากนั้นที่ประชุมได้พักการประชุมเพื่อให้ทุกฝ่ายไปตกลงกัน.