'ธนาธร' เสนอแนวคิดปฏิรูปโครงสร้างประเทศ
'ธนาธร' เสนอแนวคิดปฏิรูปโครงสร้างประเทศ ป้องกันประเทศซ้ำรอย 6 ตุลา 19 ด้าน 'นักวิชาการ' ชี้ ขบวนการนักศึกษาก้าวข้ามอุดมการณ์เดือนตุลา
เมื่อวันที่ 6 ต.ค. คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงาน "44 ปี 6 ตุลาฯ" โดยภายในงานได้จัดเวทีเสวนาหัวข้อ "6 ตุลาฯ กับอนาคตสังคมไทย"
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวตอนหนึ่งว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นสายธารของการต่อสู้ของคนที่ถูกกดขี่อย่างไม่เป็นธรรม ที่สำคัญที่ต้องพูดถึง คือ 14 ตุลา ชุดความคิดหลักมาจากลิเบอรัล แต่ 6 ตุลา มีชุดความคิดหลักเป็นโซเชียลลิซึมชัดเจนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างที่กดทับในสังคม ซึ่งผมคิดว่ามีความใกล้เคียงกับยุคนี้มากที่นักศึกษารู้สึกว่าผู้ใดไม่เคลื่อนไหวย่อมไม่รู้สึกโซ่ตรวนที่มันหนักอยู่ วัฒนธรรมหลัง 6 ตุลา ยังดำรงแทบครบถ้วนในสังคม เช่น วัฒนธรรมคนผิดลอยนวล เป็นต้น
นายธนาธร กล่าวว่า สิ่งหลักๆที่เป็นพื้นฐานที่ต้องดำเนินการและเป็นภารกิจร่วมกันของสังคม คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยการคืนอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญให้กับประชาชน และต้องยังต้องปฏิรูปประเทศในเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูประบบราชการรวมศูนย์และต้องสร้างการกระจาย ระบบเศรษฐกิจเพื่อยกเลิกการผูกขาดของกลุ่มทุนการเมือง
ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่า นักศึกษาเยาวชนได้กระชากเพดานไปไกลมากแล้ว แก้รัฐธรรมนูญไล่ประยุทธ์แค่นี้พอหรือเปล่านั้นผมคิดว่าเป็นเวลาที่เราต้องออกมายืนเคียงข้างกันและกัน เราไม่มีอำนาจทางกฎหมาย ไม่มีปืน ไม่มีอะไรเลยที่จะทัดทานเขา อย่าปล่อยให้เพื่อนเราโดดเดี่ยว
ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 สะท้อนถึงความโหดร้ายของกระบวนการยุติธรรมไทยเพราะคนใช้ความรุนแรงไม่ได้โดนจับกุมแม้แต่คนเดียว มีแต่นักศึกษาที่ถูกทำร้ายกลับถูกจับกุมและขึ้นศาล เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าตนเองไม่ได้ใช้ความรุนแรงและคิดร้ายต่อประเทศชาติอย่างไร การจะยุติความรุนแรงได้นั้นจะต้องสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งแยกไม่ออกจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ถ้าเราทำสำเร็จจะสามารถสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง โดยต้องเริ่มจากคำว่า "เราจะไม่ยอมให้ความรุนแรงเกิดขึ้นอีก" ด้วยการทำความจริงให้ปรากฎ คนทำผิดต้องได้รับการลงโทษ การเยียวยาชดเชยให้กับเหยื่อไม่ใช่แต่เพียงการให้เงินเท่านั้นแต่รัฐต้องยอมรับผิดและออกมาขอโทษ และการปฏิรูปหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า ประเทศไทยไม่เคยเกิดกลไกเหล่านี้เลย ความจริงหลายเหตุการณ์ยังไม่ปรากฎ จึงแทบไม่ต้องหวังถึงความยุติธรรมที่จะเอาคนมาขึ้นศาล การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนจะต้องสร้างกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านให้ประสบความสำเร็จ ดังนั้น อยากให้คิดถึงภารกิจนี้ในระยะยาวนอกจากการรำลึกวีรชน แต่จะต้องจัดตั้งศูนย์รวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงในรูปแบบหอจดหมายเหตุหรือพิพิธภัณฑ์ที่เปิดกว้างให้คนมาศึกษามากขึ้น ถ้าทำแบบนี้ได้แล้วการที่ไม่มีเหตุการณ์ 6 ตุลาคมในแบบเรียนก็ไม่เป็นไร เพราะการเรียนรู้ของคนปัจจุบันไม่ได้มีแค่แบบเรียนเท่านั้น
ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เวลาเราพูดถึงเหตุการณ์เดือนตุลาคม จะพบว่าประวัติศาสตร์ถูกเขียนโดยคนเดือนตุลาและคนหลังเดือนตุลา ที่สำคัญถูกใช้โดยคนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดงเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามและสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง เหตุการณ์ 14 ตุลา หรือ 6 ตุลานั้นมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ ขบวนการของนักเรียน โดยเครือข่ายเติบโตหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ผ่านเครือข่ายแนวคิดแบบฝ่ายซ้ายมีความยึดโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งทางตรงและทางอ้อม พร้อมกับมีกระบวนการจัดตั้งอย่างมีเอกภาพ และก็กระจายตัวเข้าไปในมหาวิทยาลัย จนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ขบวนการของฝ่ายก้าวหน้าประสบความสำเร็จ
"องค์กรหนึ่ง คือ กลุ่มศึกษาเพื่อความเป็นไทย เป็นกลุ่มแรกๆที่มีการเปิดพื้นที่การเรียนของเด็กมัธยมเมื่อหลายปีที่ผ่านมา คนเหล่านี้ไม่ได้ยึดโยงกับพรรคการเมือง เติบโตมาจากการกดทับหลังการรัฐประหารที่ไม่พอใจกับระบบอนุรักษ์นิยมในโรงเรียน เช่น ทรงผม ชุดนักเรียน กลุ่มคนเหล่านี้ทำงานต่อเนื่อง พวกเขาเป็นที่มาของเครือข่ายนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เราได้เห็นในช่วงที่ผ่านมา เป็นการเติบโตทางความคิดมาเป็นเวลานานแล้ว ตอนนี้มาถึงจุดที่ต้องเลิกถามได้แล้วว่าเด็กรุ่นนี้จะเหมือนคนเดือนตุลา แต่ควรเป็นชุดประวัติศาสตร์อีกชุด"
"เด็กรุ่นนี้มีความเหมือน 14 ตุลา ในแง่ของความหลากหลายทางความคิด และการจัดตั้งก็ไม่ได้เป็นรูปแบบ แต่มีความแตกต่างตรงที่คนรุ่นนี้พยายามเชื่อมโยงตัวเองกับเหตุการณ์ 6 ตุลา คนรุ่นนี้ไม่ได้รู้สึกว่าประชาชนชนะในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เพราะมีการเปลี่ยนแปลงแค่ตัวผู้นำรัฐบาลและรัฐบาลเท่านั้น และยังเป็นประวัติศาสตร์ของคนอภิสิทธิ์ชน"