ศูนย์ทนายฯ ชี้จับกุม-คุมขัง คณะราษฎรอีสาน 21 ราย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ ชี้จับกุม-ควบคุมตัว นศ.-ปชช.คณะราษฎรอีสาน 21 ราย ข้ามขั้นตอนกฏหมายชุมนุม ไม่พาตัวไป สน.ท้องที่ ตัดสิทธิ์ปรึกษาทนายความ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์หลังจากเจ้าหน้าที่จับกุมแกนนำม็อบ14ตุลาฝั่งอีสาน นำโดย นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน และพวกรวม 21 คน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม และระบุถึงเหตุผลการจับกุมว่า ทำผิดกฎหมาาย เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ, พ.ร.บ.การจราจร ว่า การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย 3 ประการ คือ
1. ข้ามขั้นตอนปฏิบัติ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ การชุมนุมสาธารณะของประชาชน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยมีการแจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่ก็ตาม การใช้สิทธิในการชุมนุมของประชาชน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสั่งให้ยุติการชุมนุม หรือกระทั่งจะปฏิบัติการสลายการชุมนุม จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ได้แก่ การประกาศให้เลิกการชุมนุมหรือแก้ไขการชุมนุมภายในเวลาที่กำหนด หากผู้ชุมนุมไม่ดำเนินการ ต้องร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจในพื้นที่ ที่มีการชุมนุมสาธารณะเพื่อมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม และหากผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะจะต้องมีการประกาศพื้นที่ควบคุมและประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ภายในเวลาที่กำหนด และหากพ้นระยะเวลาที่กำหนดพื้นที่ควบคุม ยังคงมีผู้ชุมนุมหรือประชาชนในพื้นที่ จะถือว่าเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานมีอำนาจจับกุมได้ตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา
"ทั้งนี้ ไม่ปรากฎว่าในการสลายการชุมนุมและจับกุมตัวประชาชนอย่างน้อย 21 ราย ที่เกิดขึ้นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมมีการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งให้ประชาชนเลิกการชุมนุม และไม่มีการประกาศพื้นที่ควบคุมก่อนเข้าปฏิบัติการตามกฎหมายแต่อย่างใด การที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้างว่าผู้ชุมนุมกระทำความผิดซึ่งหน้าและเข้าจับกุมผู้ชุมนุมโดยไม่ปฏิบัติตามกระบวนการในกฎหมายนั้น ทำให้พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ไร้ความหมายในทางปฏิบัติ"
2. ไม่พาตัวผู้ถูกจับกุมไปยังสถานีตำรวจ (สน.) ท้องที่ที่มีการจับกุม เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ เพราะได้นำตัวผู้ถูกจับกุมไปยังกองบังคับการตำรวจชายแดนภาค 1 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจ และไม่ใช่ที่ทำการของพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด
3. ตัดสิทธิผู้ถูกจับกุมที่จะพบและปรึกษาทนายความ ภายหลังการจับกุมตัว เพราะเจ้าหน้าที่ปฏิเสธการเข้าพบของทนาย ตั้งแต่เวลา 17.45 น. จนถึงเวลา 21.00 น. อีกทั้ง เจ้าหน้าที่ตชด.บริเวณประตูได้ขอจดชื่อทนายไปสอบถามผู้บังคับบัญชา ก่อนกลับมาแจ้งว่ายังไม่อนุญาตให้เข้าอีกด้วย