6 อดีต กสม. จี้ รัฐบาลต้องเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน
อดีต กสม.ออกแถลงการณ์ รัฐบาลต้องเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน เตือน อย่าใช้กำลังกับเด็กที่มาชุมนุม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จำนวน 6 คน ประกอบด้วย นายวสันต์ พานิช นางสุนี ไชยรส นางนัยนา สุภาพึ่ง น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ นางเตือนใจ ดีเทศน์ นางอังคณา นีละไพจิตร ออกแถลงการณ์ 4 ข้อเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง และเคารพสิทธิการชุมนุมอย่างสงบของประชาชน โดยมีเนื้อหาดังนี้
จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการแสดงออกโดยการชุมนุมอย่างสงบของประชาชน เพื่อเรียกร้องเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุติการคุกคามประชาชน รวมถึงปฏิรูปการศึกษา และกระบวนการยุติธรรม ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ นับตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงปัจจุบันบนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ล่าสุดได้มีการประกาศการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชนที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร” ระหว่างวันที่ 13 ถึง 15 ตุลาคม ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการชุมนุมดังกล่าวได้ยุติในช่วงเช้ามืดของวันที่ 15ตุลาคม และได้มีการนัดชุมนุมต่อในเวลา 16.00 น. ณ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ในวันเดียวกัน ในขณะที่รัฐบาลได้สลายการชุมนุมโดยสงบของประชาชน และจับกุมควบคุมตัวแกนนำเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม อีกทั้งต่อมาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม เวลา 4.00 น. รัฐบาลได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 5 และมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2543 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร
พวกข้าพเจ้ามีความกังวลและห่วงใยอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความเปราะบาง โดยเห็นว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงของรัฐบาลขาดความชอบธรรม เนื่องจากการชุมนุมของประชาชนยังไม่มีแนวโน้มอันจะนำไปสู่การก่อให้เกิดความรุนแรง การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงจึงเป็นการละเมิดสิทธิการชุมนุมอย่างสงบสันติของประชาชน สร้างความหวากกลัว และเป็นการใช้อำนาจเกินเลยเพื่อสลายการชุมนุมและปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน นอกจากนั้นรัฐบาลยังได้ปล่อยให้มีการเผชิญหน้ากันของกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกันอันอาจนำพาไปสู่การใช้ความรุนแรงระหว่างประชาชนกับประชาชน อีกทั้งเป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อให้สถาบันกษัตริย์ขัดแย้งกับประชาชน ซึ่งการกระทำของรัฐบาลนอกจากไม่ช่วยคลี่คลายหรือลดความรุนแรงแล้ว ยังเป็นการขยายขอบเขตความขัดแย้งให้บานปลายออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังต่อไปนี้
1.ยกเลิกประกาศสถานการณ์ที่มีความฉุกเฉินร้ายแรง ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันรัฐบาลสามารถแก้ไขได้โดยใช้กฎหมายปกติ
2.ปล่อยแกนนำทุกคนที่ถูกควบคุมตัว และเปิดให้มีการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจริงใจในการหาทางออกจากวิกฤติความขัดแย้งด้วยสันติวิธี
3.รัฐบาลควรปฏิบัติตามความเห็นทั่วไปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประจำกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (CCPR) ฉบับที่ 37 ตามข้อบทที่ 21 สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ ขององค์การสหประชาชาติ (ICCPR) มาปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยรัฐต้องเคารพและประกันสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ และมีหน้าที่ที่จะต้องไม่ห้าม จำกัด ขัดขวาง สลาย หรือรบกวนการชุมนุมโดยสงบโดยปราศจากเหตุอันควร และจะต้องไม่ลงโทษผู้เข้าร่วมการชุมนุม หรือผู้จัดการชุมนุมโดยปราศจากเหตุที่ชอบธรรมตามกฎหมาย
4.กรณีมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องจับกุม ควบคุมตัวประชาชนที่ใช้ความรุนแรงรัฐบาลต้องคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกจับกุม ทั้งสิทธิในการพบญาติ ทนายความ รวมถึงผู้ซึ่งผู้ถูกควบคุมตัวไว้วางใจ และหากผู้ถูกควบคุมตัวเป็นเด็กหรือเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ขอให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหลักความยุติธรรมสำหรับเด็ก (juvenile justice) อย่างเคร่งครัด โดยให้มีสหวิชาชีพร่วมในการสืบสวนสอบสวนทุกครั้ง
ทั้งนี้ พวกข้าพเจ้าขอเน้นย้ำว่าสิทธิการชุมนุมโดยสงบนั้นมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย โดยประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกได้อย่างอิสระและเปิดเผย ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐจึงควรแก้ไขปัญหาขัดแย้งทางการเมืองโดยยึดแนวทางรัฐศาสตร์มากกว่าการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ควรมีความอดทน อดกลั้นและยืดหยุ่นเพื่อหาทางออกร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อนำความสงบสันติคืนสู่สังคมไทย