"กมธ.แก้รธน. ก่อนรับหลักการ" เสียงแตก พบ "ไพบูลย์" จ่อขวางรื้อใหม่ ส่งศาลตีความ

"กมธ.แก้รธน. ก่อนรับหลักการ" เสียงแตก พบ "ไพบูลย์" จ่อขวางรื้อใหม่ ส่งศาลตีความ

เมื่อเปิดสภาฯสมัยสามัญ กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนรับหลักการ เตรียมเสนอรายงานต่อที่ประชุม ล่าสุดกรณีแก้ไขทั้งฉบับโดยส.ส.ร. กมธ.ฯ เสียงแตก

          นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย ฐานะเลขานุการกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนรับหลักการ รัฐสภา แถลงภายหลังการประชุมกมธ. ว่า กมธ.ฯ สรุปความเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นต่างๆ  ที่กมธ. แต่ละคนเสนอความเห็นเสร็จเรียบร้อยแล้ว จากนี้จะส่งรายละเอียดให้กับ อนุกมธ.จัดทำรายงาน ที่มีนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นประธานอนุกมธ.ฯ ให้รูปเล่มและเสนอต่อสมาชิกรัฐสภา เพื่อพิจารณาก่อนลงมติรับหรือไม่รับหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในสมัยประชุมสามัญเดือนพฤศจิกายนนี้ 

      นายณัฏฐ์ชนน เปิดเผยถึงเนื้อหาที่กมธ. พิจารณา อาทิ ญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และต้ังสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กมธ.มีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่เห็นว่าการแก้ไขทำได้ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ขณะที่อีกฝ่ายที่มองว่าขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งนำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ  พร้อมให้เหตุผลว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับโดย ส.ส.ร. นั้น ไม่สามารถทำได้ ทั้งนี้นายไพบูลย์ระบุว่า หากกมธ.นำรายงานการแก้รัฐธรรมนูญเสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเมื่อใด จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 กระทำได้หรือไม่ และจะต้องทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนรับหลักการหรือไม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจน

         นายณัฏฐ์ชนน  เปิดเผยด้วยว่าสำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ รายมาตรานั้น ส.ว.ส่วนใหญ่มีท่าทีอ่อนลง ไม่ขัดข้องหากจะมีการแก้ไขในมาตรา272 เรื่องการให้อำนาจส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยยอมให้ตัดอำนาจดังกล่าวทิ้ง ถ้ามีความจำเป็น รวมถึงมาตรา270 เรื่องอำนาจส.ว.ในการปฏิรูปประเทศนั้น ส.ว.หลายคนยอมรับว่า ปัญหาการปฏิรูปประเทศมีเยอะทุกเรื่อง จึงอยากให้ส.ส.เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการปฏิรูประเทศ เพื่อให้การปฏิรูประเทศประสบผลสำเร็จ ดูแล้วเสียงส.ว.ไม่ขัดข้องในการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา.