'ฝ่ายค้าน' ประเดิมอภิปรายเรียกร้อง 'ประยุทธ์' ต้องลาออก
ฝ่ายค้าน ประเดิมอภิปรายเรียกร้อง 'ประยุทธ์' ต้องลาออก เพื่อจบปัญหาทุกอย่าง
ที่รัฐสภา นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการประชุมรัฐสภาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ว่า สถานการณ์ของประเทศวันนี้ คือ การดื้อรั้นของนายกฯในการต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงที่เน้นแต่การใช้อำนาจนิยม ไม่ได้ก่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วมไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน จนนำไปสู่การขยายความรุนแรง หลายปีที่ผ่านมาของรัฐบาลทำให้เกิดความแตกแยกและความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจทรุดลงจนคาดเดาอนาคตไม่ได้
"พวกท่านไม่อาจเข้าใจได้ว่าการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจควรทำอย่างไร เมื่อไม่เข้าใจและไม่คิดถึงประชาชน เพราะไม่ได้มาจากประชาชน แม้จะอ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นการสมคบกับพวกพ้องภายใต้รัฐธรรมนูญซับซ้อนที่ทำหลายหลักการประชาธิปไตย เพื่อสืบทอดอำนาจ สถานการณ์ที่ผ่านมาประจักษ์แล้วว่าพวกท่านไม่เข้าใจและไม่ใส่ใจประชาชน"
นายสมพงษ์ กล่าวว่า การชุมนุมของประชาชนที่มีข้อเสนอนั้นควรได้รับการพิจารณาอย่างเหมาะสม ไม่ใช่การซื้อเวลา พวกท่านมีทัศนคติคับแคบ จึงได้จัดการกับผู้เห็นต่างด้วยการปราบปราม จนถูกคัดค้านจากภายในและนอกประเทศ การแก้ไขวิกฤติจะต้องไม่ใช้กำลังและสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง การใช้กำลังสลายการชุมนุมเป็นมาตรการที่เกินเลยจากความเป็นจริง อีกทั้งยังมีการใช้กฎหมายแบบสองมาตรฐาน ล้วนแต่สร้างแรงกดดัน จึงอยากสอบถามว่าเป็นการตั้งใจสร้างความไม่พอใจ เพื่อนำไปสู่สภาวะที่ยากต่อการควบคุม และหยิบฉวยสถานการณ์นั้นเพื่อต่อยอดอำนาจ เป็นภาวะที่พวกเราไม่สามารถรับได้
"ผมเห็นว่าสภาแห่งนี้ควรเสนอให้รัฐบาลหาข้อสรุปที่เกิดขึ้น ซึ่งอยากเสนอดังนี้ 1.ต้องพิจารณาข้อเสนอของประชาชนและนักศึกษา 2.เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยให้เร็วที่สุด ไม่เตะถ่วงเพื่อดึงให้ล่าช้า และพิจารณาต้นเหตุสำคัญของปัญหา 3.เร่งปลดเงื่อนไขที่เป็นต้นเหตุของวิกฤติ เร่งปล่อยนักศึกษาที่ถูกจับกุมคุมขัง และ 4.เพื่อให้การขจัดปัญหาที่เกิดขึ้นและถือเป็นการแสดงออกต่อความรับผิดชอบ นายกฯ คือ อุปสรรคสำคัญและเป็นภาระของประเทศ จึงควรลาออก เพื่อให้ทุกอย่างจบลงด้วยดี"
ด้าน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีความจริงใจ และที่สำคัญควรจะต้องได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว แต่กลับมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อศึกษาก่อนรับหลักการ เป็นการกระทำที่เสียเวลาและงบประมาณ และผลของคณะกรรมาธิการชุดนี้ไม่ได้ชี้ไปทิศทางใดว่าควรให้รัฐสภาลงความคิดเห็นไปทางใด
นายประเสริฐ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้สร้างปัญหาโดยตรง เมื่อปี 2557 มีการนิรโทษกรรมตัวเอง กำหนดหลักการกรอบการร่างรัฐธรรมนูญที่ขัดกับหลักประชาธิปไตยเพื่อต้องการสืบทอดอำนาจ โดยเฉพาะการให้ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกฯ ซึ่งเป็นการสืบทอดอำนาจ การสรรหาส.ว.ควรมีความเป็นกลางเพื่อกลั่นกรองกฎหมาย แต่กับมีการแต่งตั้งคนคสช.แต่งตั้งส.ว.เอง มีการปกปิดคำสั่งแต่งตั้งส.ว. กระบวนการไม่เป็นไปอย่างเปิดเผย
"นอกจากรัฐธรรมนูญ 2560 ยังทำเพื่อการสืบทอดอำนาจให้พล.อ.ประยุทธ์แล้ว ยังมีอีกหลายประการ เช่น การตรากฎหมายเลือกตั้งส.ส.พร้อมกับการยืดเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไป ทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป จนกระทบต่อการจัดทำงบประมาณ เป็นต้น ทั้งๆที่พล.อ.ประยุทธ์ ได้เลื่อนเลือกตั้งมาแล้ว 5 ครั้ง รวมเป็นเวลาที่ในอำนาจถึง 5 ปี และทั้งหมดเป็นเหตุผลทำไมผู้ชุมนุมต้องเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ"
"ขอให้นายกฯยืนขึ้นกลางที่ประชุมและประกาศลาออก เพื่อให้มีการเลือกนายกฯใหม่และจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภาผู้แทนราษฎร การลาออกจะเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบ และจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยดี แต่หากเลือกที่จะยุบสภาเลย จะมีผลตามมา คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินไปต่อไม่ได้ แต่ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ต้องเสียสละเพื่อประโยชน์ของประชาชนต่อไป"