'กรรมการสมานฉันท์' ที่ไร้ 'ฝ่ายค้าน'
บนความเคลื่อนไหว ว่าด้วยการตั้ง "คณะกรรมการสมานฉันท์" เพื่อศึกษาหาทางออกประเทศจากวิกฤตการเมือง อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะด้วยมุมการเมืองเรื่องซื้อเวลา และความละเอียดอ่อนความแตกแยก เรื่อง สถาบัน ใครที่รับงานนี้พึงพิจารณาให้ดี ก่อนเอาชื่อมาทิ้ง
การประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อเสนอทางออกของปัญหาการเมือง ม็อบเยาวชน ตลอดวันที่ 26-27 ตุลาคม ที่ผ่านมา บทสรุปที่ได้ คือ การตั้ง “คณะกรรมการสมานฉันท์” เพื่อศึกษาหาทางออกประเทศจากวิกฤติการเมือง
รัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เอาด้วยกับข้อเสนอนี้ และมอบหมายให้ “รัฐสภา” ที่มี “ชวน หลีกภัย” เป็นประธานรัฐสภา รับช่วงต่อ
กับแนวทางนี้ “พรรคร่วมรัฐบาล” ขานรับ เช่นเดียวกับ สมาชิกวุฒิสภา ส่วนพรรคฝ่ายค้านนั้น มีท่าทีชัดเจนว่า “ไม่เอาด้วย”
ตามคำแถลงของ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง" เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุว่า กรรมการสมานฉันท์ฯ คือ เครื่องมือเพื่อซื้อเวลาให้ “รัฐบาลที่สืบทอดอำนาจของ คสช.” อยู่ต่อ
ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อเสนอของ พรรคฝ่ายค้าน ที่เห็นไปในทางเดียวกันว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ควรลาออก เพื่อคลายปมขัดแย้ง
เมื่อ กรรมการสมานฉันท์ฯ ถูก พรรคฝ่ายค้านปฏิเสธ เชื่อว่าสิ่งที่จะถูกนำไปขยายความต่อ คือความไว้วางใจ และการยอมรับจากสังคม
เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณารับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชนและประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มี “ภราดร ปริศนานันทกุล" ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย เป็นประธาน กมธ.
ที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านปฏิเสธการเข้าร่วมเช่นกัน และส่งผลให้ การทำงาน และรายงานที่นำเสนอต่อสภาฯ ถูกตราว่า ”ขาดความรอบด้าน”
อย่างไรก็ดี หากนำคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อศึกษาหาทางออกประเทศจากวิกฤตการเมือง ที่เตรียมตั้ง โดยมีบารมีของ “ชวน หลีกภัย” ไปเปรียบกับกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภา ถือว่าไม่เหมาะอย่างยิ่ง
เพราะ "ว่าที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ” คือ กรรมการระดับชาติ ซึ่งรัฐบาลรับรอง ดังนั้นการขอความร่วมมือจากผู้ใหญ่ในบ้านเมือง และฝ่ายที่เคยได้ชื่อว่าเป็น “คู่ขัดแย้ง” ของรัฐบาล อาจทำได้ไม่ยากนัก
แต่สิ่งสำคัญที่เป็นหัวใจของเรื่องนี้คือ การ "ตั้งโจทย์" เพื่อ "หาคำตอบ" หากเรื่องราวถูก “ตั้งธง” ตามประเด็นที่ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่า “ซื้อเวลา” คนที่ตอบรับเป็นกรรมการฯ ต้องพึงตระหนักด้วยเช่นกันว่า จะเอาชื่อเสียงมาทิ้งเพียงเพราะ การเมืองเรื่องพรรค์นี้หรือไม่
นอกจากนั้น การตั้งกรรมการสมานฉันท์ฯ ยุคนี้ เชื่อว่าทำงานได้ไม่ง่าย เมื่อมีประเด็นที่ละเอียดอ่อน ให้พิจารณา ไม่ใช่แค่การหาทางออกทางการเมือง ระหว่างคู่ขัดแย้ง-ฝ่ายการเมือง
เพราะมีเรื่องปฏิรูปสถาบัน ที่ในสังคมไทยหันมาสนใจ โดยเฉพาะ สถาบันครอบครัวที่แตกแยก ระหว่าง “ผู้ปกครอง" กับ "เด็กในปกครอง” ที่ถึงขั้นถูกมองว่า "ลูกไม่เคารพพ่อแม่” ดังนั้นในแง่มุมของสังคมไทยที่เปลี่ยนไป ล้วนเป็นประเด็นที่แหลมคม ท้าทายต่อการทำงานเป็นอย่างยิ่ง
ขณะเดียวกัน เรื่องนี้ไม่ว่าคำตอบ หรือบทลงเอยจะเป็นอย่างไร สิ่งที่จะนำไปสู่ทางออกของวิกฤตการเมืองได้
คือ การตัดสินใจภายใต้ประโยชน์ของประเทศ ที่มีเพียง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เท่านั้นที่ต้องตัดสินใจ.