'ปชป.' หนุน 2 สูตรตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์
"ราเมศ" หนุนทุกฝ่ายร่วมวง "คณะกรรมการสมานฉันท์" เห็นด้วย 2 แนวทางสถาบันพระปกเกล้า
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแนวทางการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ของสถาบันพระปกเกล้าว่า ตามที่ปรากฏแนวทางการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ มีอยู่ 2 แนวทาง ซึ่งเป็นการวางโครงสร้างที่ถือได้ว่ามีความเหมาะสม แนวทางแรกคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ 7 หรือ 5 ฝ่าย ประกอบด้วยฝ่ายที่มีอำนาจตัดสินใจหรือเป็นตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี ส.ส.รัฐบาลส.ส.ฝ่ายค้าน วุฒิสภา และตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับที่ นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอ ซึถือว่าเป็นโครงสร้างที่ดี มีองค์ประกอบทุกฝ่าย เพราะหากขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมมีความไม่สมบูรณ์ ในการพูดคุยเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ
นายราเมศ กล่าวต่อว่า ส่วนแนวทางที่สอง คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ที่ประกอบด้วย คนกลางตามที่แต่ละฝ่ายเสนอให้เป็นกรรมการ โดยการเสนอจากทุกฝ่าย หรือให้ประธานรัฐสภาไปสรรหาบุคคล หรือให้ประธานรัฐสภาตั้งประธานคณะกรรมการ ซึ่งจะเป็นผู้ไปคัดเลือกทาบทามบุคคลมาเป็นคณะกรรมการ ถ่อเป็นโครงสร้างที่ให้มีคนกลางเข้ามาเพื่อเข้ามาร่วมกันหาทางออก ทั้งนี้ หากสถาบันพระปกเกล้า ได้นำสองแนวทางนี้มาผสมผสานกัน จะเกิดความลงตัวมากขึ้น เพราะหากมีฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงแล้วหากมีบุคคลที่เป็นคนกลาง มีความน่าเชื่อถือ มีประสบการณ์ เป็นบุคคลที่สังคมยอมรับ จะส่งผลดีต่อภาพรวมของคณะกรรมการสมานฉันท์ที่จะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย
"สัดส่วนคนกลางหากมีการกำหนดจำนวนบุคคลให้มีสำนวนพอสมควร เพื่อให้มีกลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่สังกัดอยู่ฝ่ายไหน ย่อมได้รับความเชื่อถือเพิ่มมากขึ้นจากทุกฝ่าย แต่อยู่ที่การออกแบบของสถาบันพระปกเกล้า เชื่อว่าจะออกแบบโครงสร้างอยู่บนหลักการประโยชน์ของบ้านเมือง"นายนาเมศ กล่าว
นายราเมศ กล่าวด้วย สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ ไม่มีทางใดดีไปกว่า การพูดคุยทำความเข้าใจกัน เพื่อหาทางออกเพราะข้อเรียกร้องส่วนไหนที่ทุกฝ่ายรับได้ และรับไม่ได้ต้องมีการพูดคุยกัน ทั้งนี้ เมื่อโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์เสร็จแล้วอยากเรียกร้องทุกฝ่ายเข้าร่วม เพื่อมาแสวงหาทางออกให้กับบ้านเมือง ถ้ารักบ้านเมือง สิ่งไหนที่จะเกิดประโยชน์กับบ้านเมืองเชื่อว่าทุกคนจะร่วมมือกัน