ส่งออกไทยเดือน ต.ค. ขยายตัว 14.6% ลุ้นทั้งปีขยายตัว 4 %

ส่งออกไทยเดือน ต.ค. ขยายตัว 14.6% ลุ้นทั้งปีขยายตัว 4  %

พาณิชย์ เผยการส่งออกเดือน ต.ค.มูลค่า 27,222.1 ล้านดอลลาร์ มูลค่าสูงสุดในรอบ 19 เดือน  ขยายตัว 14.6 % ขณะที่ 10 เดือนขยายตัว 4.9 % ลุ้นปี 67 โตได้ถึง 4% มูลค่าแตะ 3 แสนล้านดอลลาร์

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า  การส่งออกไทยเดือน ต.ค.2567  มีมูลค่า 27,222.1 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 14.6 %  หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ 10.7  % ทำมูลค่าสูงสุดในรอบ 19 เดือนการ ส่วนนำเข้า มีมูลค่า 28,016.4 ล้านดอลลาร์  ขยายตัว 15.9  % ดุลการค้า ทำให้ไทยขาดดุล 794.4 ล้านดอลลาร์

โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์
อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่เติบโตในระดับสูง สอดรับกับกระแสการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ หลายประเทศยังมีการเร่งนำเข้าเครื่องจักรสำหรับการผลิต และวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากจะรองรับการฟื้นตัวของภาคการผลิตแล้ว ยังเป็นการเตรียมความพร้อมเชิงกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านการค้าระหว่างประเทศที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยบวกจากการขยายตัวของความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลก และสถานการณ์เงินเฟ้อในตลาดส่งออกหลักที่เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้กำลังซื้อในตลาดเหล่านั้นปรับตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ การส่งออกไทย 10 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่า 250,398.0 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 4.9 % และ เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 4.8 % ส่วนนำเข้า มีมูลค่า 257,149.2 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว  6.6 % ดุลการค้า 10 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,751.2 ล้านดอลลาร์

ส่งออกไทยเดือน ต.ค. ขยายตัว 14.6% ลุ้นทั้งปีขยายตัว 4  %

สำหรับการส่งออกเดือนต.ค.ที่ขยายตัว 14.6 %   มาจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว  7.2  % โดยสินค้าเกษตร ขยายตัว  6.8  % และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 7.6 %  ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว  18.7  %  ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญขยายตัวได้ดี สอดคล้องกับสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะตลาดจีน และญี่ปุ่นที่กลับมาขยายตัว เช่นเดียวกับตลาดสหรัฐฯ CLMV สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร
ที่ขยายตัวสูงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ ตลาดหลัก ขยายตัว 16.3%
โดยขยายตัวต่อเนื่องในตลาดสหรัฐฯ   25.3 %  สหภาพยุโรป (27)  22.1 % และ CLMV   27.9 %กลับมาขยายตัวในตลาดจีน 8.5 % ญี่ปุ่น  7.0 % และอาเซียน (5)   6.8 % (2) ตลาดรอง ขยายตัว 2.4 %  โดยขยายตัว ในตลาดเอเชียใต้  12.8 %  ตะวันออกกลาง  1.9%  ลาตินอเมริกา  31.5  % สหราชอาณาจักร 58.1 % และรัสเซียและกลุ่ม CIS  3.0  % ในตลาดขณะที่ตลาดทวีปออสเตรเลีย และแอฟริกา หดตัว 14.0 % และ 3.1%  ตามลำดับ ตลาดอื่น ๆ ขยายตัว 118.9 %

“กระทรวงพาณิชย์ คาดส่งออกไทยปีนี้   มีลุ้นโตได้ถึง 4% เกินเป้าที่ตั้งไว้ คิดเป็นมูลค่าแตะ 3 แสนล้านดอลลาร์”     นายพูนพงษ์ กล่าว

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของการส่งออกทั้งปี 2567 บรรลุเกินกว่าเป้าหมายในการทำงาน (working target) ตามที่ได้ตั้งไว้ โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญจากการฟื้นตัวภาคอุตสาหกรรมของคู่ค้า การใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น การเติบโตของการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลและฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปี ประกอบกับต้นทุนโลจิสติกส์ที่เอื้ออำนวยจากการปรับลดลงของค่าระวางเรือ

อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยยังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ ในอนาคต ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินอยู่ รวมถึงผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนนโยบายการส่งออกข้าวของอินเดียที่อาจส่งผลต่อการส่งออกข้าวไทย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จำเป็นต้องเฝ้าติดตามและวิเคราะห์ปัจจัยเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพื่อหาแนวทางรับมือที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ต่อไป