ย้อนผลงาน ‘สมานฉันท์’ สามอดีตนายกฯ ตอบโจทย์ฝ่าวิกฤติชาติ?

ย้อนผลงาน ‘สมานฉันท์’ สามอดีตนายกฯ  ตอบโจทย์ฝ่าวิกฤติชาติ?

อดีตนายกฯ 'อภิสิทธิ์-อานันท์-บิ๊กจิ๋ว' ถือว่าแต่ละคนมีประสบการณ์เกี่ยวกับการทำงานในเชิงสมานฉันท์ทางการเมืองแตกต่างกันออกไป ซึ่งปัญหาอยู่ที่แนวทางเดิมๆที่เคยเสนอกันมานั้นจะแก้ไขปัญหาในปัจจุบันได้หรือไม่

หน้าตาและโครงสร้างของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการแก้ไขปัญหาการเมืองเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ภายใต้การขับเคลื่อนของ 'ชวน หลีกภัย' ประธานรัฐสภา

ประธานชวน ได้ดำเนินการแบบคู่ขนานไปในสองส่วนด้วยกัน ประกอบด้วย 1.การมอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะหน่วยงานในการกำกับดูแลของรัฐสภา จัดทำรูปแบบโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ และ 2.การเดินประสานงานกับอดีตนายกรัฐมนตรีที่ยังมีชีวิตและอยู่ในประเทศไทย เพื่อขอความคิดเห็นและแนวทางที่จะทำให้การทำงานครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีที่ 'ชวน' เดินสายพูดคุยประกอบด้วย คนคุ้นเคยอย่าง 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' 'อานันท์ ปันยารชุน' และ 'พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธเหลือแต่เพียง 'สมชาย วงศ์สวัสดิ์' ที่ยังอยู่ในระหว่างการประสานงาน

มองไปยังบทบาทของอดีตนายกฯ 3 คนแรกนั้นถือว่าแต่ละคนมีประสบการณ์เกี่ยวกับการทำงานในเชิงสมานฉันท์ทางการเมืองแตกต่างกันออกไป อย่างอดีตนายกฯอภิสิทธิ์ ไม่ได้เข้ามาเดินหน้าเองโดยตรง แต่อาศัยกลไกของรัฐบาลที่ได้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มี คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่เข้ามาทำหน้าที่ชำระข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดง และการให้ข้อเสนอเรื่องกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน

ผลงานของคอป.ที่ออกมาได้รับการยอมรับในระดับหนึ่ง แม้กลุ่มแกนนำคนเสื้อแดงจะไม่เห็นด้วยในบางประเด็น แต่อย่างน้อยที่สุดเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลจาก 'อภิสิทธิ์' มาเป็น 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' คอป.ก็ยังไม่ถูกยุบทันที เพราะได้ทำงานเสร็จสิ้นจนสมบูรณ์และส่งมอบงานส่วนที่เหลือให้กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์

160441261241

ส่วนกรณีของอดีตนายกฯอานันท์ เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นนายกฯสองสมัยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการเมือง ได้แก่ ภายหลังการรัฐประหารพ.ศ.2534 และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 แต่กว่าจะมาได้จับงานเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพจริงๆและเป็นที่รู้จักได้นั้นอยู่ในสมัยรัฐบาล 'ทักษิณ ชินวัตร' ซึ่งเป็นรัฐบาลที่เผชิญกับปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างรุนแรงหลายครั้ง โดยเฉพาะเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ และ การสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จนต้องมีการตราพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548

สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลทักษิณกลับมาให้ความสนใจแนวทาง 'การเมืองนำการทหาร' อย่างจริงจัง หนึ่งในนั้น คือ การตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) โดยให้อดีตนายกฯอานันท์เป็นประธาน

กรอบอำนาจหน้าที่และการทำงานของกอส.นั้นเน้นหนักไปที่การศึกษาและการนำแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหลัก ข้อเสนอที่สำคัญที่ได้รับการยอมรับ เช่น มาตรการสมานฉันท์เฉพาะที่แก้ปัญหาความรุนแรงที่ชั้นบุคคลผ่านการจัดตั้งหน่วยสันติเสวนา การสานเสวนากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ไปจนถึงมาตรการสมานฉันท์ยั่งยืนที่เน้นการแก้ปัญหาความรุนแรงที่โครงสร้างและวัฒนธรรม รวมไปถึงการเสนอให้ตราพระราชบัญญัติสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

160441261291

แต่ในบรรดาอดีตนายกฯทั้งสามคนหรือรวมไปถึงอดีตนายกฯชวน รวมเป็น 4 คนแล้ว ไม่มีใครที่มีประสบการณ์ในการทำงานสร้างสันติภาพในทางการเมืองมากเท่ากับ 'พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ' โดยเฉพาะการเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการผลักดันให้พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 ซึ่งในหนังสือ "โลกสีขาว" หนังสือชีวประวัติของพล.อ.ชวลิต ได้เล่าถึงการกว่าที่จะมีคำสั่ง 66/2523 จนสามารถเอาชนะการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์ได้นั้นต้องทำอย่างไร

"หลักการยุทธศาสตร์ทั้งหมดตั้งขึ้นอยู่บนพื้นฐานของปรัชญาสงครามและสันติภาพทั้งสิ้น กล่าวคือ หนึ่ง สันติภาพย่อมสามารถเอาชนะความรุนแรงได้ สอง ยอดยุทธศาสตร์ของทหาร คือ การมีชัยชนะโดยไม่ต้องรบ สาม ยอดยุทธวิธีทหาร คือ ศัตรูทำลายกันเองเพื่อชัยชนะ สี่ ยอดอุดมการณ์ คือ เสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ห้า ยอดยุทธศาสตร์การเมือง คือ ความเป็นไปได้ของชัยชนะ หก ยอดยุทธวิธีการเมือง คือ การประนีประนอมเพื่อชัยชนะ"

"อย่างไรก็ดี กว่าจะลองผิดลองถูก ศึกษายุทธศาตร์ยุทธวิธีการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ควรจะเป็นอย่างไร ใช้การรุกทางทหารปราบปรามอย่างรุนแรงมาแล้วแต่ไม่ได้ผล ยิ่งตีคอมมิวนิสต์ยิ่งโต จนกระทั่งมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ ใช้การเมืองนำการทหารและออกมาเป็นคำสั่ง66/23 ทำให้การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ประสบผลสำเร็จ"

"2523 ปลายปี กองทัพบกได้เปิดยุทธการทางการเมืองขึ้น โดยใช้คำสั่ง 66/23 เพื่อเปิดทางเสรีภาพและการยอมรับการกลับใจอย่างกว้างขวาง เพื่อให้แนวร่วมทางการเมืองของพรรคกลับเข้ามามอบตัวให้มากที่สุด"

ขณะเดียวกัน ในห้วงเวลาต่อมาระหว่างเกิดความขัดแย้งทางการเมืองว่าด้วยบริบทของสีเสื้อ พล.อ.ชวลิต ได้พยายามเสนอทฤษฎี 'โซ่ข้อกลาง' เพื่อให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาคุยกัน ไปจนถึงการจัดรัฐบาลแห่งชาติ หรือ รัฐบาลเฉพาะกาล ให้ทุกอย่างกลับไปสู่จุดเริ่มต้นและจัดทำกติกากันและกลับไปเลือกตั้งอีกครั้ง แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้รับความสนใจจากฝ่ายใดมากนัก

ดังนั้น ในสถานการณ์ที่อดีตนายกฯทั้ง 4 คนมารวมตัวกัน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศ บทสรุปที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นตัวกำหนดทิศทางการเมืองของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

160441261295