'ชวน-สุรยุทธ์' ร่วมวงคุยปรองดอง สายสัมพันธ์ไม่มีวันขาด
แม้การเปิดเผยของ 'ชวน หลีกภัย' ถึงการจะเข้าพบ 'พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์' จะไม่ได้เป็นข่าวกระแสมากนัก แต่ในทางการเมืองแล้วถือเป็นการเคลื่อนไหวที่มีความหมายเป็นอย่างยิ่ง
น่าสนใจไม่น้อยกับท่าทีที่ล่าสุดที่ออกมาจาก 'ชวน หลีกภัย' ประธานรัฐสภา เกี่ยวกับความคืบหน้าในการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยเมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมานั้นนอกจากประธานสภายืนยันทำหน้าที่นี้ต่อและไม่สนใจการคัดค้านของกลุ่มผู้ชุมนุมแล้ว ปรากฎว่ามีประเด็นสำคัญ คือ การเตรียมเข้าพบ 'พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์' ประธานองคมนตรี ด้วย ในฐานะที่พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี
"ยังติดต่อท่านสมชายไม่ได้ ผมตั้งใจจะพูดกับทุกคนนะครับ แม้แต่ท่านประธานองคมนตรี (พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) ก็จะไปกราบเรียนในฐานะท่านเป็นผู้ใหญ่และเป็นนายกฯมาเช่นกัน แต่สำหรับท่านธานินทร์นั้นต้องดูก่อนว่าสุขภาพท่านไหวหรือไม่แต่จะลองไปสอบถามดูเพราะผมรู้จักกับครอบครัวท่าน" เป็นคำตอบของประธานชวน ภายหลังถูกผู้สื่อข่าวถามว่าจะเข้าหารือกับนายกฯทุกคนหรือไม่
นอกจากนั้น ประธานสภายังได้ยืนยันว่าแม้จะมีการหารือกับประธานองคมนตรี แต่จะไม่มีประเด็นเรื่องสถาบัน เพราะจะไปพบประธานองคมนตรีในฐานะที่เป็นนายกฯคนหนึ่งเท่านั้น อีกทั้งไม่มีเหตุผลที่จะไปคุยกับประธานองคมนตรีในเรื่องดังกล่าว
นับเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าติดตามพอสมควรว่าหากถึงวันที่ประธานรัฐสภาพบกับประธานองคมนตรี จะมีผลต่อทิศทางของการเมืองไทยอย่างไรบ้าง เพราะประธานทั้งสองต่างเป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมืองด้วยกันทั้งสิ้น
ย้อนกลับไป เมื่อครั้งพล.อ.สุรยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่างทราบกันดีว่าก่อนหน้านนั้นดำรงตำแหน่งองคมนตรี แต่ภายหลังการรัฐประหารในปี 2549 ก็ได้ถูกเชิญจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ให้มาเป็นหัวหน้ารัฐบาล
สิ่งแรกๆที่พล.อ.สุรยุทธ์ พยายามในนามนายกรัฐมนตรี คือ การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นที่มาของกล่าวคำว่า "ขอโทษ" กรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2549
"ผมขอโทษ ผมเคยเป็น ผบ.ทบ.มาก่อน และเคยพยายามคัดค้านการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลชุดที่แล้ว แต่ไม่เป็นผล ถือว่าผมมีส่วนผิดด้วย ที่คัดค้านการยุบ ศอ.บต.ไม่สำเร็จ" ส่วนหนึ่งของคำขอโทษและคำอธิบายระหว่างเดินทางไปที่จังหวัดปัตตานี
คำขอโทษที่เกิดขึ้นในวันนั้นทำให้สถาการณ์ความรุนแรงแม้จะยังไม่หายไปเสียทีเดียวแต่ก็ลดความรุนแรงลง และเป็นสัญญาณของจุดเริ่มในการสร้างสันติภาพ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากจะให้มาร่วมกันพินิจพิเคราะห์ คือ การพบกันของ 'ชวน-สุรยุทธ์' และความสัมพันธ์ในอดีตที่มีต่อกันของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทั้งสองคน ซึ่งถือว่าไม่ธรรมดาอย่างแท้จริง
'ชวน หลีกภัย' ได้ขึ้นมาเป็นนายกฯสมัยที่สองเมื่อปี 2540 ภายหลังพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่งเพื่อรับผิดชอบต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจนเกิดการลอยตัวค่าเงินบาท ไม่เพียงแต่นั่งในตำแหน่งนายกฯเท่านั้น เพราะยังควบเก้าอี้ 'รมว.กลาโหม' อีกตำแหน่งด้วย และเวลานั้นมีผู้บัญชาการทหารบกที่ชื่อ 'พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์'
ว่ากันว่าเมื่อกว่าสองทศวรรษที่แล้วหากไม่มีนายกฯชื่อ 'ชวน' ผบ.ทบ.ตอนนั้นคงไม่ได้ชื่อ 'พล.อ.สุรยุทธ์'
ในหนังสือ "เส้นทางเหล็ก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จากลูกคอมมิวนิสต์สู่ผบ.ทบ." ได้อธิบายถึงการก้าวขึ้นมาเป็นผบ.ทบ.ตอนหนึ่งว่า พล.อ.สุรยุทธ์ มีอายุราชการเหลืออีกถึง 5 ปี และการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ไม่ใช่ตำแหน่งหลักและไม่ใช่ 5 เสือทบ. แต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าพล.อ.สุรยุทธ์ ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะเมื่อเติบโตจากการเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 สมควรได้ขึ้นเป็น 5 เสือทบ. แต่ถูกอีกขั้วอำนาจหนึ่งในกองทัพบกสกัดทำให้หลุดวงจรไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ
ขณะเดียวกัน การทำงานในตำแหน่งผบ.ทบ.ของพล.อ.สุรยุทธ์ในยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ มีความโดดเด่นอย่างถึงที่สุด โดยเฉพาะการเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ช่วยเหลือตัวประกันคนไทย 130 คนที่ถูกกองกำลังกะเหรี่ยงก๊อดอาร์มี่ควบคุมไว้เป็นตัวประกันที่โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี
พล.อ.สุรยุทธ์ ดำรงตำแหน่งผบ.ทบ.นานถึง 4 ปี แต่ไม่ได้เกษียณอายุราชการในตำแหน่งนี้ เพราะภายหลัง 'ทักษิณ ชินวัตร' นำพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งและได้เป็นนายกฯ ปรากฎว่าได้โยกย้ายพล.อ.สุรยุทธ์ ไปเป็นผู้บัญชาการสูงสุด ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการโยกย้าย เพราะรัฐบาลป้องกันไม่ให้กองทัพรัฐประหารล้มรัฐบาล อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลสั่นคลอนขึ้นมาทันที ก่อนจะเกิดการรัฐประหารขึ้นจริงในปี 2549
ด้วยการครองตัวและแนวทางการทำงานที่ผ่านมา ส่งผลให้พล.อ.สุรยุทธ์ ได้รับความเคารพและความเกรงใจจากนายทหารใหญ่หลายคนรวมไปถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เพราะต่างมีอุดมการณ์ในการปกป้องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เหมือนกัน
ดังนั้น ท่าทีของพล.อ.สุรยุทธ์ ที่จะสื่อผ่านทาง 'ชวน หลีกภัย' น่าจะเป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้การเมืองไทยมีทิศทางที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว