การเมือง
ถอดรหัส "กรรมการสมานฉันท์" ส่อ วงแตก!
ทางที่นำไปสู่การตั้งกรรมการสมานฉันท์ ส่อแวว จะล่ม หลัง พรรคฝ่ายค้าน มีมติ ไม่ร่วมวง เช่นเดียวกับ "คู่ขัดแย้ง" อย่าง "ม็อบคณะราษฎร" ปฏิเสธแต่ต้นเช่นกันว่า ไม่ร่วม
คำประกาศอย่างเป็นทางการของ พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ลงมติ ไม่ส่งใครเข้าร่วมเป็น “กรรมการสมานฉันท์”
ตอกย้ำให้เห็นถึง การไปไม่ถึงฝันของ การมีองค์คณะเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาทางการเมือง
ตามที่ได้ริเร่ิมไว้ใน การประชุมร่วมรัฐสภา สมัยวิสามัญ เพื่ออภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 เพื่อขอความเห็นจากรัฐสภา ต่อการแก้ปัญหาการชุมนุมทางการเมือง เมื่อ 26 - 26 ตุลาคม
ย้อนความกันสักนิด ในตอนนั้น จุดยืนของฝ่ายค้าน มีเพียงหนึ่งเดียว คือ ให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ลาออกจากนายกรัฐมนตรี เพราะเชื่อว่า “ม็อบคณะราษฎร63” จะลดดีกรีที่นำไปสู่การขยายผล ความไม่สงบในบ้านเมืองได้
ขณะที่ ฝ่ายรัฐบาล เอง มีจุดยืนสนับสนุนให้ “พล.อ.ประยุทธ์” อยู่ต่อ และใช้แนวทางสันติวิธีเพื่อเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม บางฝั่งก็ยุให้ใช้กฎหมายขั้นเด็ดขาดกับผู้ชุมนุม
ก่อนจะสรุปกันในตอนท้าย โดยฝั่ง "พรรคแกนนำรัฐบาล" ให้หาทางออกด้วยการตั้งกรรมการสมานฉันท์ และตอนนั้น “ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา” ต้องรับงานนี้ต่อ โดยมอบหมายให้ สถาบันพระปกเกล้า เป็นผู้ออกแบบโครงสร้าง
จึงออกมาเป็น กรรมการสมานฉันท์ 7 ฝ่าย มี 21 คน ประกอบด้วย
1.ผู้แทนรัฐบาล 2 คน, 2.ผู้แทนส.ส. ฝ่ายรัฐบาล 2 คน, 3.ผู้แทนส.ส.ฝ่ายค้าน 2 คน, 4.ผู้แทนส.ว. 2 คน, 5.ผู้แทนฝ่ายชุมนุม 2 คน, 6.ผู้แทนฝ่ายอื่นๆ 2 คน และ 7.ฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน มาจาก ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เสนอชื่อ 3 คน, ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ เสนอชื่อ 1 คน, ที่ประชุมคณะกรรมการอธิบการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เสนอชื่อ 1 คน, ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ด้านการปรองดองสมานฉันท์ซึ่งกรรมการเลือกด้วยมติ 2 ใน 3 จำนวน 4 คน
ก่อนหน้านั้น “แกนนำคณะราษฎร” แถลงปฏิเสธการร่วมวง
และล่าสุด คือ “พรรคฝ่ายค้าน” ไม่ร่วมเช่นกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า “คู่ขัดแย้ง(ม็อบ) ปฏิเสธเข้าร่วม, กรรมการไม่เป็นกลางแท้จริง และ ปัญหาคงไม่ได้รับการแก้ไข”
กรณีที่ “ฝ่ายค้าน-คู่ขัดแย้ง” ประกาศไม่ร่วมวง เท่ากับว่า “ประตูสมานฉันท์” ปิดลงไปโดยปริยาย เพราะหากไม่มี 2 ฝั่งนี้ จะให้ “ฝั่งรัฐบาล”คุยหรือเจรจากับใคร
อย่างไรก็ดีในทิศทางของฝั่งรัฐบาล ยังคงตอบรับ และเตรียมส่งบุคคลเข้าร่วม
สัดส่วนพรรคร่วมรัฐบาล 2 คน เดิมพรรคที่ได้สิทธิ์ คือ “พลังประชารัฐ” และ “ภูมิใจไทย” แต่ “ประชาธิปัตย์” ขอต่อรองแบ่งโควต้า โดยให้ “พลังประชารัฐ” ไปใช้สัดส่วนของรัฐบาล ที่มี 2 ตำแหน่งแทน เบื้องต้นนั้นยังไม่ทราบว่า “รัฐบาล” จะไฟเขียวหรือไม่ แต่ "ประชาธิปัตย์" เตรียมส่ง "เทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ" ร่วมวง
ทางด้าน พรรคพลังประชารัฐ เคาะสเปค ส.ส.ที่จะส่งชื่อ คือ เป็นผู้อาวุโส, ไม่มีภาพความขัดแย้ง อาทิ “วีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์” - “นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์” - "ภิญโญ นิโรจน์ ส.ส.นครสวรรค์
ส่วน ภูมิใจไทย เคาะ “สรอรรถ กลิ่นประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาพรรค”
ฟากของ “ส.ว.” นั้นมีชื่อที่ถูกเสนอ 3 ชื่อ ซึ่ง “พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา”บอกว่า มาโดยสมัครใจ ส่วนคุณสมบัติคือ ไม่มีภาพของความเป็นคู่ขัดแย้ง
ซึ่ง 3 รายชื่อที่ว่า ประกอบด้วย “วัลลภ ตังคณานุรักษ์ - สังศิต พิริยะรังสรรค์- พล.อ.ธีรเดช มีเพียร”
แต่ส.ว. ได้โควต้า เพียง 2 คนดังนั้นจึงต้องเคาะเลือกอีกครั้ง หลังจากที่เห็นหน้าตากรรมการแต่ละฝ่ายและหัวหน้าสมานฉันท์
ซึ่งท่าทีของ “ส.ว. และ ส.ส.ฝั่งรัฐบาล” ที่สะท้อนออกมาถึงความเชื่องช้า ทั้งที่เรื่องปรองดอง ควรเร่งทำ หากไม่ต้องการให้ปัญหาทางการเมือง เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาบ้านเมือง
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์ ที่ “ฝั่งรัฐ” ประเมินว่า อยู่บนความได้เปรียบ ทั้ง "กระแสม็อบแผ่ว - มีกฎหมายเข้มข้นใช้กำราบ”ส่วน “ฝั่งม็อบ” เอง ประเมินตัวเองว่า “ได้ชัยชนะ ทุกครั้งที่เรียกรวมพล - รัฐบาลถอย”
จึงเป็นความต่างที่ต่างฝ่ายประเมิน ว่า อยู่บนความได้เปรียบ จึงไม่มีใครคิด จะหันหน้าสมานฉันท์-ปรองดอง
ดังนั้น เมื่อม็อบไม่ให้ความสำคัญ รัฐบาลเองก็ไม่เห็นว่าจะได้ประโยชน์กับฝั่งตัวเอง “วงสมานฉันท์” ที่ตั้งใจ
จึงส่อแวว จะแตก และล่ม ทั้งที่ยังประกอบไม่เป็นรูป เป็นร่าง แม้จะได้คนมากบารมี อย่าง “ชวน หลีกภัย”เป็นหัวหอกเดินเรื่องนี้ก็ตาม.