วัดใจ‘ผู้มีอำนาจ’ บนเส้นทางแก้รธน.
รัฐธรรมนูญฉบับที่อยู่ในปัจจุบัน เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงครหาต่างๆโดยเฉพาะการสืบทอดอำนาจและเป็น “มรดกคสช.” และยังเป็นตัว “จุดชนวน” ให้เกิดม็อบ ที่เวลานี้ทะลายเพดานขึ้นไปเรื่อยๆ
“รัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 ถอยไปไกลพอสมควร เพราะมีการกำหนดให้มีส.ว.จากการแต่งตั้ง และการกำหนดให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพมาเป็นส.ว. ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อน
เมื่อครั้งมีการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญได้มาขอความเห็น ซึ่งได้ให้ความคิดเห็นไปว่าปัญหาของการใช้รัฐธรรมนูญขึ้นอยู่กับการกระทำของ ‘คน’ที่ใช้รัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ”
ซุ่มเสียงจาก “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา ต่อประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ10ธ.ค.ที่ผ่านมา
เป็นการสะท้อนมุมมองทั้งในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติและนักการเมือง “ผู้ช่ำชอง” ในสมรภูมิการเมือง ต่อรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่ ณ เวลานี้มี2ร่างแก้ไข ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกมธ.
กลายเป็นควันหลงวันรัฐธรรมนูญที่สื่อ “นัยยะสำคัญ” ที่ไม่ควรมองข้าม
เท้าความกันอีกครั้งหลักใหญ่ใจความของร่างแก้ไขทั้ง 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งเป็นของ “ส.ส.รัฐบาล” อีกฉบับเป็นของ “ส.สฝ่ายค้าน” มีเนื้อหาที่คล้ายกันในการเปิดทางสู่การมี “สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)” ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ต่างกันตรงที่ “จำนวน” และ “ที่มา” ของส.ส.ร ซึ่ง “ฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล” ให้มี ส.ส.ร. 200 คน แบ่งเป็น 150 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ตามสัดส่วนจังหวัด และอีก 50 คน มาจากการเลือกทางอ้อม
ส่วน “ฉบับฝ่ายค้าน” ให้มีส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
หากยังจำกันได้ เมื่อครั้งที่มีการเสนอร่างแก้ไขจำนวน7ฉบับ นอกเหนือจาก2ร่างที่ผ่านชั้นรับหลักการในวาระแรกแล้ว ยังมีอีก 5ร่างที่เสนอแก้ไขเป็นรายมาตรา ซึ่งมีทั้งประเด็นการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ,ประเด็นการล้างมรดกและอำนาจที่เป็นผลพวงมาจากรัฐบาลคสช. ซึ่งมีประเด็นการได้มาและอำนาจของส.ว.ตามที่นายชวนพูดถึงรวมอยู่ด้วย
แต่ในครั้งนั้น “ฝั่งรัฐบาล” ให้เหตุผลในการโหวตรับหลักการวารแรกเพียง2ฉบับและตีตกอีก5ฉบับว่า “ประเด็นต่างที่เสนอมาให้เป็นหน้าที่ของส.ส.ร.เป็นผู้ดำเนินการ”
ดังนั้นแม้เวลานี้ยังมีอีกหลายขั้นตอนที่ต้องไปลุ้นกันที่รูปร่างหน้าตาของส.ส.ร.จะออกมา ที่แม้จะผ่านความเห็นชอบจากสภาฯและมีขั้นตอนในการทำประชามติ
แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สังคมกำลังตั้งความหวังและจับตาไปที่ “ส.ส.ร.” ชุดนี้
พร้อมตั้งคำถามฝากให้คิดว่าจะเป็นตัวแทนในการปลดชนวนขัดแย้ง รวมถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น หรือจะยิ่งซ้ำเติมปัญหา?
ต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่อยู่ในปัจจุบัน เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงครหาต่างๆโดยเฉพาะการสืบทอดอำนาจและเป็น “มรดกคสช.” และยังเป็นตัว “จุดชนวน” ให้เกิดม็อบ ที่เวลานี้ทะลายเพดานขึ้นไปเรื่อยๆ
ดังนั้นหากจะถอดรหัสคำพูดของประธานชวน แล้วตีความในแง่ของการส่งสัญาณเตือนไปยังผู้มีอำนาจว่า ถึงเวลาที่ต้องยอมสละอำนาจบางส่วนที่มีอยู่ แล้วรับฟังเสียงร้องขอจากประชาชนก็คงไม่ผิดอะไรนัก
ขึ้นอยู่กับว่าทางฝั่งผู้มีอำนาจจะยอมรับฟังเสียงท้วงติงจากทางฝั่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติในครั้งนี้หรือไม่? ต้องไปวัดใจกัน