เปิดมุมมอง2กรรมการสมานฉันท์ - จัดการ "ม็อบ" ต้องใช้ "ไม้เด็ด"

เปิดมุมมอง2กรรมการสมานฉันท์ - จัดการ "ม็อบ" ต้องใช้ "ไม้เด็ด"

เวลาเคลื่อนสู่เดือนสุดท้ายของปี 2563 แล้ว สังคมยังคงตั้งคำถาม ต่อทางออกของความขัดแย้งที่คุกรุ่นเกือบปี กับเวที ของกรรมการสมานฉันท์ เพื่อเปิดพื้นที่พูดคุย ระหว่าง "คู่ขัดแย้ง" ที่เพิ่งเริ่มต้น จะใช่ทางออกของปัญหาหรือไม่?

      ความชัดเจน สำหรับ "กรรมการสมานฉันท์” เพื่อเป็นเวทีกลาง หาทางออกจากความขัดแย้งทางการเมือง มีเพียงการตอบรับและตั้งต้นเรื่อง โดย ฝ่ายรัฐบาล
      ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของกรรมการฯ คือ 6 ใน 21 คน ล่าสุดยืนยันชื่อ มาแล้ว 4 คน คือ พล.อ.ชัยชาญ​ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม, เทอดพงษ์ ไชยนันท์  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในโควต้าของรัฐบาล , นิโรธ สุนทรเลขา  ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ และ สรอรรถ กลิ่นประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในโควต้าพรรคร่วมรัฐบาล
      และยังเหลือกลุ่ม  "ส.ว.” อีก 2 ชื่อ ที่รอพิจารณา ขณะที่กลุ่มฝ่ายค้าน พ่วงคู่ขัดแย้ง 4 คนนั้น ท่าทีตั้งต้นคือ ไม่เอาด้วย แต่ "ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ" ยังขอให้ทบทวนอีกครั้ง
      ขณะที่กรรมการสมานฉันท์ จากฝ่ายวิชาการ ที่มาโดยสถานะ คนกลาง  ได้ชื่อจาก  "ที่ประชุมคณะกรรมการอธิบการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล" คือ “ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี มทร.อีสาน”
      ส่วนอีก   4 ชื่อจาก  ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย จำนวน 3 รายชื่อ และจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ จำนวน1 ชื่อนั้น ยังรอการพิจารณาปลายเดือนธันวาคมนี้
 
      อย่างไรก็ดีขณะนี้มีการตั้งคำถามว่า “การสมานฉันท์”นั้น ยังจำเป็นหรือไม่ในสถานการณ์ปัจจุบัน
 
      ต่อเรื่องนี้ “ผศ.ดร.วิโรจน์” ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ว่า ที่ประชุม มทร. เห็นว่าสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทางออกที่ดี คือ การพูดคุย เมื่อได้รับหนังสือจากนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้พิจารณาส่งบุคคลเข้าร่วม ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะมีเวทีที่ได้พูดคุย แม้เวทีที่ตั้งขึ้น องค์ประกอบไม่ครบทั้ง 2 ฝั่ง แต่ในหลักการที่พอเสนอได้ คือ ต้องให้ประเทศเป็นตัวตั้งเพื่อให้เดินหน้าร่วมกันได้
 
      ผศ.ดร.วิโรจน์​บอกว่า สำหรับข้อเสนอที่เตรียมไว้กับ “กรรมการสมานฉันท์” เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาภายใต้กรรมาธิการ (กมธ.) ของรัฐสภา สิ่งที่พอทำได้ คือ การเปิดรับข้อเสนอของ 2 ฝ่าย แต่ในประเด็นที่เสนอโดยผู้ชุมนุมบางเรื่อง ไม่จำเป็นต้องรับและทำตาม เพราะต้องยอมรับว่าในบางข้อเสนอนั้นสุดโต่ง และมีความขัดแย้งเจืออยู่
 
      ส่วนภาพของการชุมนุมทางการเมืองที่ขับเคลื่อนหลายประเด็น เช่น ปฏิรูปการศึกษา การแก้กติกาในสถาบันที่กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่คือ คนรุ่นใหม่ นักเรียน นิสิต นักศึกษา  มองว่าล้าหลังและไม่ตอบโจทย์ในโลกปัจจุบัน
 
160843260479
      จะใช้ทางไหนเพื่อเป็นทางออกที่ดีที่สุด ระหว่างปัญหาที่เสนอกับการรับไปแก้ไขโดยฝ่ายบริหาร
      “อธิการบดี มทร.อีสาน” ยอมรับว่า ภาคสถานบันการศึกษานั้นต้องเป็นกลาง แต่ยอมรับว่าผู้ชุมนุมนั้นคือ ลูกศิษย์ ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล คือ เจ้านาย ดังนั้นคงฟันธงไม่ได้ว่า จะมีวิธีไหนเพื่อคลี่คลายปัญหา แต่ส่วนตัวเชื่อว่า ทุกความขัดแย้งล้วนคลี่คลาย และหาทางออกได้ด้วยการพูดคุย และการรับฟัง
 
      “มีบางประเด็นที่ขับเคลื่อนแล้วน่าสนใจ บางประเด็นก็รับไม่ได้ ดังนั้นอยากให้มีคนดูแล บางเรื่องในใจไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่หากเกิดแล้ว ควรอยู่ในกรอบของกติกากลาง ส่วนการปฏิรูปเรื่องการศึกษาหลายประเด็น สถาบันการศึกษาต้องรับไปปรับตัว ซึ่งที่ผ่านมาในสถานบันปรับการเรียนการสอน และเน้นสร้างความเข้าใจต่อบริบทที่เกิดขึ้น พร้อมกับหน้าที่” ผศ.ดร.วิโรจน์ กล่าว
 
      ส่วนการทำงานของกรรมการสมานฉันท์ จะทำให้เกิดทางออกของประเทศได้จริงหรือไม่ “ว่าที่กรรมการสมานฉันท์​ จากมทร.”บอกว่า เชื่อว่ากรรมการคงไม่ใช้วิธีทำเป็นข้อเสนอข้อที่ 1 ข้อที่ 2 เพื่อให้รัฐบาลนำไปดำเนินการ แต่คือการระดมความคิดที่ตกผลึกเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่เป็นทางออกที่ดีที่สุด
 
      กับมุมมองอีกด้านของตัวแทนจากฝั่งรัฐบาล ที่มาจากพรรคพลังประชารัฐ “นิโรธ สุนทรเลขา” ส.ส.เมืองปากน้ำโพ บอกกับทีมกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ว่า “ท่านหัวหน้าพรรค (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ) ให้ผมเข้าไปทำหน้าที่ พร้อมให้นโยบายว่าต้องใช้การพูดคุยแบบละมุนละม่อม ด้วยความรัก ไม่ว่าจะกลุ่มใด รวมถึงการทำงานในกรรมการด้วย
 
160843233448
      “การปรองดองสมานฉันท์นั้นผมว่ามีความสำคัญและจำเป็น ซึ่งผมมองว่าการสร้างความปรองดองได้นั้นต้องมีทุกฝั่งเข้าร่วม ดังนั้นอยากขอให้ฝ่ายค้าน ฝ่ายคู่ขัดแย้ง ลืมรอยด่างของกาลเวลาประชาธิปไตย แล้วหันหน้ามาพูดคุย เพื่อประเทศชาติ”
 
      ส่วนวิธีที่จะสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ในสถานการณ์ปัจจุบันควรต้องทำอย่างไร “ส.ส.เมืองปากน้ำโพ” ยอมรับว่าต้องรอให้เวทีกรรมการสมานฉันท์ เปิดอย่างเป็นทางการ และใช้เวทีนั้นหารือร่วมกันกับกรรมการที่มาจากฝ่ายต่างๆ แต่สิ่งสำคัญที่ควรทำคือการใช้ความรัก ความละมุนละม่อนในการพูดคุยกับฝ่ายต่างๆ.