ครึ่งทาง “รัฐบาลประยุทธ์”2564 แต่งตัวเตรียมเลือกตั้ง
เมื่อเข็มนาฬิกาพาเข้าสู่ปี 2564 ถือเป็นสัญญาณที่บอกว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ได้เดินทางมาถึงครึ่งทางแล้ว ดังนั้น เวลาที่เหลือนับจากนี้อีก 2 ปี จะเป็นช่วงเวลาของการเตรียมตัวเลือกตั้ง เพื่อกลับมาเป็นรัฐบาลด้วยลำแข้งด้วยตัวเองเสียที
การเมืองไทยเดินหน้าเข้าสู่ปี 2564 อย่างเป็นทางการ โดยย่างก้าวครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญมากพอสมควร เพราะเป็นหมุดหมายสำคัญที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ ได้เดินทางมาแล้วครึ่งทางหรือ 2 ปี เท่ากับว่าจากนี้ไป จะเป็นการนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง
เวลาที่เหลืออีก 2 ปี นับเป็นสถานการณ์ที่น่าจับตาอย่างยิ่ง เพราะการเมืองไทยจะปรากฎภาพให้เห็นทั้งในและนอกสภา
อย่างในสภา แน่นอนว่าภาพใหญ่ที่สุดอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะศึกนี้ไม่จบแค่การปรับแก้เนื้อหารัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น แต่ยังนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับด้วย ที่อาจต้องใช้ระยะเวลารวมทั้งหมดประมาณ 2 ปี สอดรับกับอายุของสภาที่เหลืออยู่
แม้พรรคการเมืองจะบอกว่าไม่ขอมีส่วนได้เสียในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แต่เบื้องหลังแล้วก็แอบเตรียมส่งคนเข้ามาเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญที่ตัดตัดตอนนักการเมืองเหมือนกับรัฐธรรมนูญ 2560
ประเด็นสำคัญที่น่าจะหายไปจากรัฐธรรมนูญ 2560 คือ อำนาจของ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี การติดตามการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติของวุฒิสภา รวมไปถึงระบบเลือกตั้งส.ส.ที่จะกลับไปใช้ระบบบัตรสองใบเหมือนเดิม แต่จะยังคงระบบสัดส่วนผสมตามเดิม เพื่อไม่ให้พรรคการเมืองใดมี ส.ส.ในสภามากเกินไป
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หวังว่าเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว การเมืองจะกลับมาเริ่มต้นกันใหม่อีกครั้ง โดยไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบจนเกินไปแบบเดียวกับเมื่อการเลือกตั้งปี 2562
นอกเหนือไปจากเรื่องการแก้ไขและการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ระยะเวลา 2 ปีที่เหลือ จะเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลจะกลับมาให้ความสำคัญกับกระบวนการทางนิติบัญญัติมากขึ้น โดยเฉพาะการเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน เพื่อให้สำหรับการสร้างนโยบายประชารัฐประชานิยม ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการสังคม กฎหมายประกันสังคม เป็นต้น
นาทีทองมาถึงแล้ว รัฐบาลคงไม่ยอมปล่อยผ่านอย่างแน่ๆ ที่สำคัญการผลักดันกฎหมายของรัฐบาลจะไม่ใช้ตามช่องทางปกติอย่างการผ่านกฎหมายทีละสภาตั้งแต่สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา แต่จะอาศัยช่องทางของการเป็นกฎหมายปฏิรูป เพื่อให้เสนอกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพียงสภาเดียว จะได้ลดขั้นตอนให้น้อยลงไปอีกและไม่ต้องไปลุ้นว่าองค์ประชุมจะล่มหรือจะโหวตผ่านหรือไม่ เพราะถึงอย่างไร ส.ว.ก็พร้อมสนับสนุนรัฐบาลอยู่แล้ว
ส่วนการอภิปรายไม่วางใจนั้น คงไปหวังพึ่งอะไรไม่ได้ เพราะศักยภาพของฝ่ายค้านก็มีจำกัดอย่างที่เห็น จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ ทำได้อย่างดีที่สุดแค่การอาศัยพื้นที่และเวลาของสภาอภิปรายรัฐบาลให้เข้าหูซ้ายทะลุหูขวาเท่านั้น
เมื่อมองไปที่การเมืองในสภาแล้ว คงจะมองข้ามการเมืองนอกสภาไปไม่ได้เช่นกัน ช่วงครึ่งปีหลังที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของกลุ่มคณะราษฎรที่มักจะประกาศว่าทะลุเพดานไปแล้วนั้น ด้านหนึ่งถือว่าได้ทะลุเพดานไปแล้วจริงๆ แต่อีกมุมหนึ่งการทะลุเพดานที่ว่านั้นกลายเป็น “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่พอเหลาลงไป กลายเป็นบ้องกัญชา”
ทั้งนี้เป็นเพราะ ที่เคยบอกว่าต้องการ“ปฏิรูป”นั้น พอนานไปกลายเป็นการจาบจ้วงและดูหมิ่นอย่างชัดเจน แรงสนับสนุนจึงเริ่มถดถอย ที่เพิ่มขึ้นเห็นจะมีแค่คดีความที่แกนนำได้รับเป็นของขวัญส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่คนละกว่าสิบคดี จึงแทบนึกไม่ออกเลยในปี 2564 คณะราษฎรจะไปถึงคำว่าชัยชนะได้อย่างไร
โดยภาพรวมแล้ว หากไม่โกหกตัวเองมากเกินไป ปี 2564 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะเอาตัวรอดไปได้ และจะเตรียมสร้างประวัติศาสตร์ที่จะเป็นนายกฯอีกคนที่อยู่ครบ 4 ปีโดยไม่ยุบสภา เพื่อหวังให้การเลือกตั้งครั้งหน้ากลายเป็นสะพานให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯที่มีจมูกหายใจได้ด้วยตัวเองอย่างเต็มตัว ไม่ต้องหวังพึ่งพรรคการเมืองหรือฝ่ายค้านอิสระอย่างที่เป็นอยู่
เว้นเสียแต่ว่าจะมีเหตุการณ์นอกเหนือการควบคุมมาทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องจากไปก่อนครบอายุของสภาฯ