'14 แกนนำ wevo ' รอดคุก ศาลอนุญาตให้ประกันตัว

 '14 แกนนำ wevo ' รอดคุก ศาลอนุญาตให้ประกันตัว

ศาล รับผัดฟ้องฝากขังชั่วคราว กลุ่ม wevo พบพฤติกรรมก่อความวุ่นวาย ก่อนอนุญาตให้ประกันตัวคนละ 2 หมื่นบาท


เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 64 ที่ศาลแขวงดุสิต ถ. นครไชยศรี ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า ภายหลัง ร.ต.อ.ทวีวัฒน์ ธำรงค์วัฒนกุล พนักงานสอบสวนสน.ชนะสงคราม นำตัว นายปิยรัฐ จงเทพ อายุ 30 ปี , นายนูรทีร สะและวงษ์ อายุ 19 ปี , นายทนง ชำนาญจันทร์  อายุ19ปี,นายอัรฟาน ตอเลาะ อายุ 19 ปี นายกีรติ ผลมะตาด อายุ 22 ปีนายสุชาติ จั่นแก้วอายุ 21 ปี, นายธัช ภาณุศิริอายุ 32 ปี , นายทองนพเก้า ใจไทย อายุ 20ปี นายศุภสิริ ชัยลีย์ อายุ 33 ปี , นายณัฐพงศ์ คำจันทร์ อายุ 29 ปี ,นายณัฐพงษ์ มะลิซ้อน อายุ 23ปี ผู้ต้องหาที่ 1- 11 

รวมทั้ง นายหัสดินทร์ ไกรโสภา อายุ 32 ปี, นายปัณณพัทธ์ จันทนางกูล อายุ 19 ปี และ นายมงคล สมอบ้าน อายุ 32 ปี เป็นผู้ต้องหา 1-3 อีกสำนวน แกนนำกลุ่ม wevo มายื่นผัดฟ้องฝากขัง เป็นเวลา 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 2-7 ม.ค. เนื่องจากต้องรอสอบพยานอีก 5 ปาก ผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหาทั้งหมด จากกองทะเบียนประวัติและอาชญากรสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

พฤติการณ์ใบคำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.62 11.00 น. เศษ ผู้ต้องหา 1-11 พร้อมกับพวกรวมประมาณ 50คน ได้ร่วมกันนำรถยนต์บรรทุกติดเครื่องขยายเสียงเข้าไปบริเวณ ถนนฝ่ากลางสนามหลวง โดยฝ่าฝืนคำสั่งและผลักดันเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้จับกุมผู้ต้องหาทั้ง11 คน พร้อมยึดรถยนต์ไว้เป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน สน. ชนะสงครามดำเนินคดีตามกฎหมายจากการตรวจสอบพบว่ากลุ่มผู้ต้องหามีพฤติกรรมการชุมนุมมาก่อนโดยก่อนหน้านี้กลุ่มผู้ต้องหาได้เคยกระทำความผิดลักษณะนี้และยังอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีที่สน. พญาไท

ส่วนอีกสำนวน ผู้ต้องหาที่1-3 พร้อมพวกกว่า 50 คนได้มาชุมนุมโดยฝ่าฝืนกฎหมายที่บริเวณหน้าอนุสรณ์ 14 ตุลา ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร

พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งหมดว่า ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย, ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน อันเป็นความผิดตาม ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 ข้อ 5, ฉบับที่ 5 ข้อ 2 (2), ฉบับที่ 15 ข้อ 3, กระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ กระทำผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 มาตรา 4 

ชั้นสอบสวนผู้ต้องหาทั้วหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา  โดยท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนขอคัดค้านการประกันเนื่องจากผู้ต้องหามีพฤติการณ์จะไปจัดกิจกรรม ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองหรือจะไปก่อเหตุภยันตรายด้วยประการอื่น ๆ โดยกลุ่มผู้ต้องหาเคยกระทำความผิดลักษณะนี้รวมทั้งยังอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีที่สน. พญาไท และเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี


ศาลพิจารณาคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนและคำคัดค้านฝากขังของผู้ต้องหาแล้ว ผู้ต้องหาอ้างเป็นเพียงการจำหน่ายกุ้งเผาและวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เป็นเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบปราศจากอาวุธ ไม่มีเหตุความวุ่นวายหรือความเสียหาย ผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน ไม่มีอิทธิพลหรือสามารถไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ การปล่อยตัวผู้ต้องหาไม่เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อพนักงานสอบสวน

ส่วนผู้ร้องระบุว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้ต้องหาเนื่องจากพบการกระทำความผิดซึ่งหน้า ตำรวจแจ้งให้เลิกการชุมนุม ผู้ต้องหาขัดขืนไม่ปฏิบัติตาม ขณะเกิดเหตุอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ และข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ บังคับใช้ การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น พนักงานสอบสวนจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอผัดฟ้องและฝากขังตามกฎหมาย 

พยานผู้ร้องเบิกความว่า หลังตำรวจมีคำสั่งให้ยุติการชุมนุม ผู้ต้องหากับพวกย้ายไปชุมนุมทำกิจกรรมต่อบริเวณหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ และหน้าอาคารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเดิม ต่อมาเกิดเหตุคนร้ายปาระเบิดบริเวณที่จัดกิจกรรมและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ พยานหลักฐานของผู้ร้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์จะไปก่อให้เกิดความวุ่นวาย จึงอนุญาตให้ผัดฟ้องและฝากขังผู้ต้องหา

จากนั้นผู้ต้องหาทั้ง 14 คน ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราว คนละ 2 หมื่นบาท โดยศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้ง 14 คน