เปิดวิสามัญ"ซักฟอก”รัฐบาล “บิ๊กตู่” ได้มากกว่าเสีย
ฝ่ายค้าน หวังใจให้มี "ศึกซักฟอก" รัฐบาล ก่อนปิดสมัยประชุม วันที่ 28 กุมภาพันธ์ นี้ แต่เพราะโควิดจนทำให้ สภาฯต้องงดประชุม จึงเป็นข้อถกเถียงว่าจะหาทางออกใด
เมื่อ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ตั้งเป้าสร้างผลงาน ประจำปี “เปิดศึกซักฟอก” รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้ได้ พร้อมกำหนดยื่นญัตติวันที่ 27 มกราคม
กลับต้องมาเจอปัญหา "งดประชุมสภาฯ” ถึง 2 สัปดาห์ ตามมติร่วมกันของ ฝ่ายต่างๆ ของรัฐสภา เพื่อลดความเสี่ยงต่อสถานการณ์แพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 และพอใกล้ครบกำหนด ต้องประเมินสถานการณ์ระบาดอีกครั้งว่า จะยืนยันเดินหน้าประชุม หรืองดต่อเนื่อง
กับอุปสรรคของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะ “โควิด-19” และ “ประกาศของ ศบค.” ที่ให้พื้นที่เสี่ยงสีแดง “งดประชุม - รวมตัว - ชุมนุม” ทำให้เกิดปัญหาต้องพิจารณาว่า หากสถานการณ์เกินเลยไปกว่าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นวันปิดสมัยประชุมสภาฯ ปีที่ 2 สมัยประชุมสามัญ ครั้งที่ 2 จะทำอย่างไร
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 กำหนดให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจทำได้ปีละครั้งนั้น จะทำให้พรรคฝ่ายค้านเสียสิทธิ์การทำหน้าที่หรือไม่
ตามการตีความของฝ่ายกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นข้อยุติ และได้ทำข้อตกลงไปยังรัฐบาล ตั้งแต่การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลรอบแรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563
มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า การตีความตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 ว่าด้วย “ปีละครั้ง” นั้น หมายถึง ปีสมัยประชุมสภาฯ ไม่ใช่ปีตามปฏิทิน
โดยปีประชุมสภาฯ จะประชุมสองครั้ง เริ่มต้นครั้งที่หนึ่ง วันที่ 22 พฤษภาคม -18 กันยายน 2563 ส่วนครั้งที่สอง เริ่มวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 - 28 กุมภาพันธ์ 2564
หมายถึงปีประชุมสภาฯ จะคร่อมปีปฏิทิน ดังนั้นสิทธิ์ของฝ่ายค้านที่ยื่นญัตติซักฟอกรัฐบาล หากดูปีของปฏิทิน สามารถยื่นได้ 2 ครั้ง ตามช่วงเวลาของสมัยประชุมสามัญครั้งที่หนึ่ง หรือครั้งที่สอง
ส่วนรอบนี้ หากฝ่ายค้านยื่นญัตติ จะตรงกับ ครั้งที่สอง ของปีประชุมปีที่สอง หากฝ่ายค้านถูกปิดโอกาสอภิปราย ไม่ว่าเพราะ “โควิด-19” หรือเพราะรัฐบาล ปี 2564 ยังมีสิทธิ์ยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้อีก 1 ครั้ง
แต่ในแนวทางปฏิบัติ และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้รัฐบาลมีความรับผิดชอบต่อ สภาฯ จึงเชื่อว่าการปิดโอกาสอภิปราย เพราะหมดสมัยประชุมคงไม่เกิดขึ้น
หากสมัยประชุมครั้งที่สอง ของปีที่ 2 นี้สิ้นสุด ทางที่ทำได้คือ ขยายสมัยประชุมครั้งนี้ออกไป หรือ เปิดประชุมสมัยวิสามัญ ที่มีห้วงเวลาให้เลือกใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 มีนาคม - 21 พฤษภาคม ซึ่งจะพิจารณาให้เหมาะสมกับการคลี่คลายของสถานการณ์โควิด-19 ย่อมทำได้
เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่เลือกปิดปากฝ่ายค้าน เพราะข้ออ้าง "สมัยประชุมได้สิ้นสุด หรือ พิษโควิด"
เพราะ รัฐบาลมีเสียงสนับสนุนอย่างเข้มแข็งในสภาฯ ที่มี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลถึง 275 เสียง และการลงมติไม่ไว้วางใจนั้น ใช้เกณฑ์นับเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ปัจจุบัน คือ 487 เสียง
ดังนั้นจึงเชื่อว่า ถึงอย่างไรรัฐบาลก็ยังคงได้รับคะแนนไว้วางใจที่เหนือกว่า
อีกทั้งการได้เวทีสภาฯ เพื่ออธิบายการทำงานของรัฐบาลในห้วงวิกฤติโควิด อาจเป็นจังหวะที่สร้าง “แต้มต่อ” ทางการเมืองให้รัฐบาล และนายกฯประยุทธ์ ย่อม “ได้มากกว่าเสีย”.