'กทม.' เดือด 'ทยา'ชน'จักรทิพย์' วัดขุมกำลัง'คีย์แมน'พลิกเกม
สนาม "ผู้ว่าฯกทม." เดิมพันสูงลิบ รายชื่อแคนดิเดตที่พร้อมลงล้วนมั่นใจสรรพกำลังของตัวเอง แต่คงลำบากหากจะสวมบท "วันแมนโชว์" เพราะยังมีปัจจัยอย่างสนับสนุนอยู่ด้านหลัง หนึ่งในนั้นคือบรรดา "คีย์แมน" ที่มีส่วนเป็นลมใต้ปีก พาให้ขึ้นไปถึงเก้าอี้ตัวที่หมายปอง
เป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่าสนามเลือกตั้ง “ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร” มีแคนดิเดตในซีกรัฐบาลหลายคนที่พร้อมเสนอตัวลงชิงชัยเพื่อคุมการบริหารงานในพื้นที่ “เมืองหลวง”
โดยเฉพาะชื่อของ “พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา” และ “ทยา ทีปสุวรรณ” ที่เสนอตัวพร้อมชนได้หมดทุกคน และหากได้รับการสนับสนุนจากพรรคแกนนำหลักรัฐบาล และผู้มีอำนาจก็ย่อมได้เปรียบในหลายปัจจัยที่จะเกื้อหนุน
จึงเป็นที่จับตาถึงท่าทีของ “พรรคพลังประชารัฐ” ว่าจะเลือกสนับสนุนใครในทางลับ เพราะท้ายสุดคงเลือกไม่ส่งในนามพรรคเหมือนตอนเลือกตั้ง อบจ.
เอาเข้าจริงแล้ว โครงสร้างภายใน “พรรคพลังประชารัฐ” มีการแบ่งพื้นที่ให้แกนนำแต่ละภาคร่วมกันรับผิดชอบ โดยในกทม. มี “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” รมว.ศึกษาธิการ และรองหัวหน้าพรรคดูแลร่วมกับ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรองหัวหน้าพรรค ที่ดูแลพื้นที่มาตั้งแต่ต้น
จึงไม่แปลกหากแกนนำในสาย กทม.ของพรรค จะเตรียมการ วางแนวทางเอาไว้แบบเงียบๆ มานาน ว่าจะสนับสนุน “ทยา” อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. และภรรยา “ณัฏฐพล” พร้อมกับทีมงานลงสนาม
เพียงแต่ที่ผ่านมา อาจจะไม่ใช่จังหวะเวลาที่เหมาะสมที่จะเปิดตัวล่วงหน้า กลัวจะช้ำและเฉากันไปเสียก่อน เพราะยังไม่รู้แน่ชัดว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นเมื่อใด
จนเมื่อช่วงปลายปี 63 เข้าสู่ปี 64 อดีตบิ๊กตำรวจอย่าง “พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา” อดีตผบ.ตร. ที่เปิดตัวพร้อมเข้าสู่สนามการเมือง หมายตาเป็น “ผู้ว่าฯ กทม.” ด้วยอีกคน ก็เป็นเรื่องที่หลายคนรับรู้กันดี
หากพูดถึงชื่อระหว่าง “จักรทิพย์” และ “ทยา” ก็ชัดเจนว่า “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มีตัวเลือกในใจคือ “จักรทิพย์”
เรื่องนี้ “ณัฏฐพล” รับรู้เป็นอย่างดี ถึงความคิดความอ่านของ “พล.อ.ประวิตร” ว่า ภรรยาของเขาอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมในสายตา “พล.อ.ประวิตร”
แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาของ “ณัฏฐพล” ในเมื่อได้เตรียมปูทางทำพื้นที่ กทม. มาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะถูกมองเป็นม้านอกสายตาของ “พล.อ.ประวิตร” ก็ตาม แต่ลึกๆ แล้วเขามั่นใจในขุมกำลังของพรรคพวกและเครือข่าย รวมถึงทุนรอนของเขาว่าไม่แพ้ใคร
เช่นเดียวกับ “จักรทิพย์” ที่ถือว่าเตรียมความพร้อม ทั้งเครือข่าย ทุนรอนเต็มที่ไม่แพ้กัน ที่เหลือก็อยู่ที่คนกรุงเทพฯ จะตัดสิน
หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ การต้องลงสนามในนามอิสระ ชนกันเองก็มีความเป็นไปได้สูง ดังนั้นหากใครคนใดคนหนึ่งชนะเลือกตั้ง ก็ถือว่าดีไป แต่ถ้าทั้งคู่ดันเกิดไปแพ้คู่แข่งจากขั้วตรงข้ามเท่ากับฝั่งรัฐบาล เสียหายทั้งกระดาน
“พปชร.” รอแบ่งสมบัติ ก่อนแยกย้าย
ดังนั้น หากข้อสังเกตที่ว่า “พลังประชารัฐ” จะต้องแตก ด้วยเหตุผลเรื่องความไม่ลงตัวกันในเรื่องตัวผู้สมัคร “ผู้ว่าฯ กทม.” คงไม่ใช่ปัจจัยนี้เป็นหลักเสียทีเดียว เพียงแต่เรื่องนี้อาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายเท่านั้น
เพราะใน “พลังประชารัฐ” ที่เปรียบเสมือนบ้านหลังใหม่ มีหัวหน้าครอบครัวที่กำลังวังชาโรยราเข้าไปทุก แต่ยังพอมีบารมีเป็นที่เกรงใจของคนในบ้านหลายคนที่อยู่ร่วมชายคา แม้คนในบ้านจะแบ่งพรรคแบ่งพวก แก่งแย่งชิงดีกันมาตลอด แต่ทว่าเมื่อหัวหน้าครอบครัวยังอยู่ พวกเขาก็ต้องอยู่ และต้องอยู่ให้ได้
แม้ต่างคนจะคิดแบ่งสมบัติ แล้วแยกย้ายออกไปสร้างบ้านหลังใหม่ หรือตั้งพรรคใหม่ของตัวเอง ก็ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งจะเกิดขึ้น เรื่องนี้มีมานานแล้ว บางกลุ่มซุ่มเงียบออกไปหาทำเล ลงเสาเอกจดจัดตั้งพรรคมีชื่อและโลโก้เสร็จสรรพ ทุกอย่างพร้อมหมดแล้ว เหลือก็แค่นับเวลาถอยหลังเท่านั้น
แกนนำหลายกลุ่มในพรรค เคยเปรยๆ ไปในทำนองเดียวกันว่า ถ้าวันหนึ่ง “พล.อ.ประวิตร” มีเหตุให้ต้องวางมือทางการเมือง โดยให้แกนนำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ขึ้นมารับช่วงดูแลรับผิดชอบพรรคต่อ แกนนำกลุ่มอื่นๆ ที่เหลือต่างไม่เอาด้วยแน่นอน
สถานการณ์เช่นนี้ จึงชัดเจนว่า รอยร้าวใน “พลังประชารัฐ” ลงลึกชนิดที่เรียกว่าแตกได้ทุกเมื่อเพียงแต่ตอนนี้ ทุกคนยังให้ความเคารพ “พล.อ.ประวิตร” แต่วันใดที่ “พล.อ.ประวิตร” ก้าวลงจากการคุมพรรค เมื่อนั้นก็อาจถึงเวลาที่แต่ละคนออกไปลงหลักปักฐานกันใหม่
“สนามกทม.” ไม่เหลือง ก็ส้ม ไม่ซ้ายก็ขวา
ก่อนหน้านี้ แกนนำคนสำคัญในพรรค เคยประเมินสถานการณ์การเมืองในบริบทต่อไปว่า ความคิดจะแบ่งเป็น 2 ขั้วชัดเจน คือ ไม่ขวา ก็ซ้าย หรือไม่เหลือง ก็ส้ม
การเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯกทม.” อาจได้ฉายภาพทัศน์ทางการเมือง ให้เห็นความคิดที่แบ่งเป็น 2 ข้างได้ชัดเจนมากที่สุดสนามหนึ่ง
ดังนั้น แคนดิเดตคนสำคัญ ทั้ง “จักรทิพย์” และ “ทยา” จึงอาจมองข้ามการที่จะให้พรรคจะสนับสนุนไปไกลแล้วก็ได้ เพราะทั้งคู่ต่างมีสรรพกำลัง มีฐานเสียงและมีกลยุทธ์ที่จะใช้ดึงคะแนนให้กับตัวเอง
"3 คีย์แมน" ผู้ชี้ชะตา พาใครถึงฝัน
หาก “จักรทิพย์” และ “ทยา” ต้องเหนื่อยขับเคี่ยวกันเองแล้ว ยังต้องเจอคู่แข่งคนสำคัญ ที่เปิดตัวรอตั้งแต่ไก่โห่ อย่าง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ถือเป็นอีกด่านหินที่เลี่ยงไม่ได้
อีกปัจจัยสำคัญ จึงต้องจับตาคีย์แมน ทั้ง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตแกนนำกลุ่ม กปปส. ที่มีฐานแฟนคลับในกทม. และใกล้ชิดกับ “ณัฏฐพล” และ “ทยา” จะออกแรงหนุนรูปแบบไหนอย่างไร
รวมถึง “สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ที่เตรียมตัวตั้งพรรคการเมืองใหม่ ถือเป็นอีกคนที่มีฐานเสียงเหนียวแน่นในกทม. จะตัดสินใจอย่างไร ในสถานการณ์ที่ “พรรคเพื่อไทย” บ้านเก่า ดูท่าทางจะเอาใจช่วย “ชัชชาติ”
เพราะนับตั้งแต่ “หญิงหน่อย” ออกจาก “เพื่อไทย” แกนนำบางส่วนที่ยังอยู่ในพรรค ถึงขนาดหน้าชื่นตาบาน ที่ตัดขาดเยื่อใยกันจนหมดสิ้น เห็นได้จากการขยับปรับโครงสร้างในพรรคบางอย่าง รวมถึงการพูดในทำนองค่อนแคะของบิ๊กบางคนใน “เพื่อไทย”
สถานการณ์ที่เป็นอยู่ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ “คุณหญิงหน่อย” อาจไม่เลือกช่วยคนที่ “เพื่อไทย” ช่วย คำถามคือ แล้วจะเป็นลมใต้ปีกให้กับใคร ระหว่าง “จักรทิพย์” หรือ “ทยา” หรือ ไม่เลือกช่วยใครเลย
ที่สำคัญ ต้องดูท่าทีของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะเป็นอย่างไร เพราะถือว่ามีส่วนช่วยเรียกคะแนนเสียงให้ “พลังประชารัฐ” ได้ไม่น้อย โดยเฉพาะในการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 จนสามารถกวาดส.ส. ได้ถึง 12 ที่นั่ง ด้วยแคมเปญโค้งสุดท้าย “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่” และการขึ้นปราศรัยใหญ่ ระบุถึงคีย์เวิร์ดสำคัญตอนหนึ่งว่า
“ผมให้ได้ทั้งชีวิตและจิตใจ ผมจะยอมตายเพื่อแผ่นดินผืนนี้ แผ่นดินนี้ศักดิ์สิทธิ์ ใครจะมาทรยศแผ่นดินนี้ไม่ได้เด็ดขาด เราจะต่อสู้เพื่อรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”
ดังนั้น คีย์แมนทั้ง 3 คนถือว่ามีส่วนสำคัญในการชี้ชะตาว่าแคนดิเดตผู้ว่าฯกทม. ในซีกรัฐบาลคนใด จะมีโอกาสไปถึงเป้าหมายที่ฝันไว้หรือไม่