เปิด!พิรุธพยานโจทก์คดีฆ่า'พล.อ.ร่มเกล้า' ปมศาลยกฟ้อง
ศาลพิพากษา ยกฟ้องจำเลยฆ่า 'พล.อ.ร่มเกล้า' เหตุสลายชุมนุม นปช. ชี้พยานโจทก์พิรุธหลายประการ แถมฟ้องซ้อนคดีก่อการร้าย “ทนายวิญญัติ” ถาม “ดีเอสไอ” ถ้าพยานหลักฐานอ่อนอย่าทำลายอิสรภาพ
1 ก.พ. 2564 ที่ห้องพิจารณา 813 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีขว้างระเบิดสังหาร พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม กับพวก ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) วันที่ 10 เม.ย. 2553 หมายเลขดำ อ.857/2562 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 และนางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาของ พล.อ.ร่มเกล้า ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุขเสก หรือเสก พลตื้อ, นางพรกมล บัวฉัตรขาว หรือนางกนกพร ศิริพรรณาภิรัตน์ อดีตผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์เอเชียอัพเดต และนายสุรชัย หรือหรั่ง เทวรัตน์ แนวร่วม นปช. เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าและสนับสนุนให้ฆ่าผู้อื่นฯ กับ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ
โจทก์ฟ้องระบุพฤติการณ์ความผิดสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 15 พ.ย. 2552 - 20 พ.ค. 2553 กลุ่ม นปช. ได้ร่วมกันชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อขับไล่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ให้ลาออกจากตำแหน่ง จนวันที่ 7 เม.ย. 2553 นายอภิสิทธิ์ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร และออกคำสั่งจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เพื่อปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ บริเวณ ถ.ราชดำเนินกลาง ตั้งแต่แยกคอกวัวมุ่งหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
กระทั่งวันที่ 10 เม.ย. 2553 จำเลยที่ 1 และ 3 กับพวกร่วมกันมีลูกระเบิดขว้างชนิดสังหารแบบ 88 บ.67 หรือ M67 คนละ 3 ลูก ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนด้านการเงิน และจัดหาระเบิดให้ โดยพวกจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้อื่นด้วยการขว้างระเบิดสังหาร 2 ลูก ใส่เจ้าหน้าที่ทหารขณะปฏิบัติหน้าที่บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถ.ดินสอ เป็นเหตุให้ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รอ.(ขณะนั้น) กับนายทหารรวม 5 นายเสียชีวิต และมีนายทหารอีกหลายนายได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
วันนี้ศาลเบิกตัวนายสุขเสกกับนายสุรชัย จำเลยที่ 1 และ 3 ซึ่งถูกคุมขังในคดีอื่นด้วยจากเรือนจำมาศาล ส่วนนางพรกมล จำเลยที่ 2 ที่ได้รับการประกันตัวเดินทางมาศาล โดยมีทีมทนายความจำเลย กับนายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำ นปช. เดินทางมาศาลร่วมฟังคำพิพากษาและให้กำลังใจด้วย ขณะที่ฝ่ายโจทก์ไม่มีผู้ใดเดินทางมาศาล
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบแล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรก ผู้เสียหายและผู้ตายได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอาวุธชนิดใด แพทย์พยานโจทก์เบิกความเกี่ยวกับการชันสูตรบาดแผลที่มีเศษชิ้นส่วนโลหะ ผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่าเป็นเศษชิ้นส่วนที่เกิดจากการแตกตัวของลูกระเบิดขว้างชนิดสังหารแบบ 88 บ.67 หรือ M67 ตรงกับผลการตรวจพิสูจน์ชิ้นส่วนโลหะจากหลุมระเบิดในที่เกิดเหตุ ฟังได้ว่าผู้เสียหายและผู้ตายได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากระเบิดขว้างชนิดดังกล่าว
ปัญหาวินิจฉัยประการต่อมา คนร้ายใช้สถานที่ใดเป็นที่ขว้างหรือโยนระเบิด
จากคำเบิกความของพยานโจทก์ประกอบกับจุดที่เป็นหลุมระเบิดทั้งสองหลุม น่าเชื่อว่าจุดที่เหมาะสมที่สุดในการโยนระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ทหารคือบ้านเลขที่ 149 ไม่ใช่โรงเรียนสตรีวิทยา ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน มีแสงไฟสลัว และมีความชุลมุนวุ่นวาย ทหารที่ยืนอยู่บนรถลำเลียงพลจึงอาจมองไม่เห็นหรือไม่ทันสังเกตคนร้ายที่เข้ามาในบ้านเลขที่ 149 จึงน่าเชื่อว่าคนร้ายใช้วิธีการโยนระเบิด M67 ออกมาจากบ้านเลขที่ 149 ถ.ดินสอ ตรงข้ามโรงเรียนสตรีวิทยา
ปัญหาวินิจฉัยจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นคนร้าย จำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนหรือไม่ คำเบิกความของพยานโจทก์มีข้อพิรุธอยู่หลายประการ พยานปากนายชุมพล เบิกความได้รับชักชวนจากอาสาทหารพรานค่ายปักธงชัยให้มาเป็นการ์ดของกลุ่ม นปช. และมีผู้แนะนำให้รู้จักกับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ติดตาม พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง โดยจำเลยที่ 3 ตั้งฉายาให้พยานว่าหวังเฉา และตั้งฉายาให้พยานปากนายนิวัฒน์ว่าหม่าฮั่น แต่พยานทั้งสองไม่มีหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยที่ 3 จึงผิดปกติวิสัยของผู้ติดตามหรือลูกน้องคนสนิทที่จะต้องมีหมายเลขโทรศัพท์ของเจ้านายหรือผู้ที่ตนติดตามอยู่ ทั้งยังเบิกความไม่สนิทสนม ไม่เคยพูดคุยกัน ทั้งที่เป็นผู้ติดตามจำเลยที่ 3 เช่นเดียวกัน ประกอบพยานโจทก์ปากอื่นไม่รู้จักและไม่เคยเห็นบุคคลทั้งสอง
อีกทั้งพยานปากนายนิวัฒน์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน พยานมาที่ชุมนุมทุกวัน แต่ไม่ทราบจุดประสงค์การชุมนุมของ นปช. ไม่รู้จักแกนนำ ไม่สนใจฟังปราศรัย ไม่น่าเชื่อว่าพยานจะเข้าร่วมการชุมนุมและเป็นการ์ด นปช. ดังที่เบิกความ ทั้งเบิกความว่าชื่นชอบ พล.ต.ขัตติยะ แต่ไม่ทราบว่า พล.ต.ขัตติยะ เสียชีวิตเมื่อไหร่และที่ไหน แสดงให้เห็นว่าพยานโจทก์ปากนี้หาได้มีความสนใจหรือแรงจูงใจทางการเมือง จึงไม่น่าเชื่อว่าพยานโจทก์ปากนี้จะเป็นผู้ติดตามหรือลูกน้องคนสนิทของจำเลยที่ 3 ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยที่ 3 จะต้องพานายชุมพลและนายนิวัฒน์ไปยังบ้านเลขที่ 149 เพื่อขว้างระเบิด
ประกอบกับพยานได้ให้การต่อพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อ พ.ศ.2560 ภายหลังจากพยานเข้าโครงการคุ้มครองพยาน อันเป็นเวลาหลังเกิดเหตุถึง 7 ปี โดยไม่ปรากฏว่าก่อนหน้านี้พยานเคยให้ข้อเท็จจริงต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ใดว่าจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นคนร้ายโยนระเบิดแต่อย่างใด เชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสองให้การทั้งที่มิได้อยู่ในเหตุการณ์หรือรู้เห็น
เนื่องจากได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการเข้าอยู่ในโครงการคุ้มครองพยาน เช่นเดียวกับนายชยุตที่ถูกจับกุมดำเนินคดี ซึ่งเบิกความรับว่าได้รับผลประโยชน์ทางการเงินจากการที่พยานเข้าโครงการคุ้มครองพยาน จึงน่าเชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสามมิได้รู้เห็นเหตุการณ์ ประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสามปากจึงไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมา จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และ 3 กระทำผิดตามฟ้อง กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานอื่นนอกเหนือจากนี้อีก
นอกจากนี้ ศาลได้พิจารณากรณีคำฟ้องต่อจำเลยในคดีนี้ เปรียบเทียบกับในคดี นปช. ที่ถูกฟ้องข้อหาก่อการร้าย ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ ซึ่งมีจำเลยเป็นบุคคลเดียวกัน มูลเหตุช่วงเวลาเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้อน พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1-3
ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) ในฐานะทีมทนายความจำเลย ให้สัมภาษณ์ว่า ขอแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสียชีวิตไม่ว่าจะเป็นครอบครัว พล.อ.ร่มเกล้า ครอบครัวทหาร และครอบครัวของประชาชนคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งนี้เป็นผลมาจากการเมืองที่ไม่มีคุณธรรม การเมืองที่ไม่แยกแยะ สะท้อนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งตนก็แสดงความเสียใจในเรื่องนั้น แต่ในส่วนคดีที่ศาลยกฟ้องจำเลย 3 คน ซึ่งจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นคนเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดีข้อหาก่อการร้ายมาตั้งแต่ปี 2553 แล้ว โดยศาลยกฟ้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างสู้คดีอยู่ในศาลสูง ส่วนจำเลยที่ 2 อ้างว่าเป็นคนสนับสนุนที่ไม่ใช่การ์ด นปช.หรือลูกน้องเสธ.แดง
คดีนี้ศาลพิเคราะห์การเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า เกิดจากระเบิดชนิดใดและที่ใด ซึ่งมีพยานอ้างว่ามีการขว้างระเบิดนั้น ศาลรับฟังว่าเป็นการโยนระเบิดจากบ้านไม้ตรงข้ามโรงเรียนสตรีวิทยา แต่การโยนระเบิดนั้นไม่มีประจักษ์พยานที่น่าเชื่อถือน่ารับฟังได้ว่าเป็นจำเลยในคดีนี้ทั้งสองคน พยานที่โจทก์อ้างมีพิรุธหลายประการ
กับพิเคราะห์จำเลยที่ 1 และ 3 เป็นคนร้ายลูกน้องเสธ.แดง ได้รับงานจากเสธ.แดง หรือไปตอบโต้ทหารในวันที่ 10 เม.ย. 2553 จริงหรือไม่ จากพยานหลักฐานศาลเห็นว่าไม่มีใครยืนยันชัดเจนและรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองคนอยู่ในที่เกิดเหตุ
นายวิญญัติ กล่าวด้วยว่า ส่วนการเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า ศาลไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการเสียชีวิต เพราะมีการชันสูตรพลิกศพและรายงานการตรวจศพอย่างชัดเจน ในอดีตที่มีการโต้เถียงกันว่าเหตุเกิดจากระเบิดชนิด M79 หรือระเบิดยิงนั้นเป็นความเชื่อของทหารส่วนใหญ่ในพื้นที่ แต่ผลการพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าเป็นระเบิดขว้างชนิด M67 และจากรายงานการตรวจศพ รวมทั้งพยานบุคคลก็ปรากฏว่า ไม่มีประจักษ์พยานที่ยืนยันว่าคนร้ายคือจำเลยทั้งสองคน และคนร้ายที่แท้จริงคือใคร นอกจากนี้ เมื่อเกิดเหตุระเบิดนั้นมีชาย 4-5 อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ไปเก็บกระเดื่องระเบิดในที่เกิดเหตุ แล้วอันตรธานหายไปไหน ประเด็นสุดท้ายศาลมองว่าเป็นการฟ้องซ้อนกับ คดี อ.2542/2553 นปช.ก่อการร้ายเมื่อปี 2553
ผู้สื่อข่าวถามว่าจำเลยจะได้ปล่อยตัวจากเรือนจำหรือไม่ นายวิญญัติ กล่าวว่า โดยปกติถ้าศาลไม่สั่งคุมขังระหว่างอุทธรณ์จะต้องปล่อย แต่จำเลยที่ 1 และ 3 ถูกดำเนินคดีอื่นอีก 2 คดี ที่ดีเอสไอนำพยานหลักฐานชุดเดียวกันมาฟ้องจำเลยอีก เราต้องสู้ต่อไป ดังนั้น จำเลยสองคนจึงยังไม่ถูกปล่อยตัววันนี้ แต่เราจะพยายามยื่นประกันเร็วๆ นี้
เมื่อถามถึงสำนวนคดีก่อการร้ายของดีเอสไอมีความผิดปกติหรือไม่ นายวิญญัติ กล่าวว่า ขอไม่กล่าวถึงตรงนั้น เนื่องจากยังมีการสู้คดีกันต่อในศาลอุทธรณ์และฎีกา รอให้การพิจารณาคดีของศาลสุดทางก่อน สุดท้ายผลจะเป็นอย่างไร อยู่ในบทบัญญัติเรื่องอายุความและการดำเนินคดีอยู่แล้ว ในส่วนของจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นคนเสื้อแดงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมนั้น ยังเหลืออีก 2 คดี ส่วนคดีชายชุดดำก็ยังเหลือคดีอื่นที่กำลังตามมา ไม่ทราบว่าทางการคิดอะไรไม่ออกก็เอาจำเลยชุดเดิมหรือไม่ จึงขอถามไปยังดีเอสไอให้ความเป็นธรรม ถ้าพยานหลักฐานไหนอ่อนหรือไปไม่ถึง หรือไม่ควรเกิดขึ้น ก็อย่าไปทำลายครอบครัวและอิสรภาพของเขา ซึ่งผลของคดีนี้พวกเราไม่ได้ดีใจ เราเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่การทำหน้าที่ทนายความ เราต่อสู้มาตามกระบวนการยุติธรรม ก็หวังว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นในประเทศไทยอีก