จากโควิด ‘(ไม่)กระจอก’ ลามเป้าซักฟอก ‘อนุทิน’
"โควิด" ที่เวลานี้ไม่กระจอก กลายเป็นเป้าที่ฝ่ายค้านหยิบมาใช้เพื่อขยายแผลใหญ่ "อนุทิน" กลางสภาฯ
ความแตกต่างของอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือ “ศึกซักฟอก” ที่กำลังจะมีขึ้นในช่วงวันที่ 16-19 ก.พ. จากครั้งที่แล้วตรงที่ นอกเหนือจาก “7พรรค” ฝ่ายค้าน จะล็อกเป้าไป “พี่น้อง 3 ป” และรัฐมนตรีในส่วนของพรรคพลังประชารัฐแล้ว “ศึกซักฟอก” รอบนี้ยังแบ่งขุนพล“ล็อกเป้า” ตีไปที่รัฐมนตรีในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล หนึ่งในนั้นมีชื่อของ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ท่ี่เรียกขานกันว่า “หมอหนู” รวมอยู่ด้วย
ข้อกล่าวหาที่ฝ่ายค้านเขียนไว้ในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ระบุอย่างละเอียดว่า “บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาด บกพร่อมอย่างร้ายแรง ไร้ประสิทธิภาพ และไร้ความสามารถ ไม่ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ส่งผลให้มีการแพร่ระบาดในรอบสองอย่างกว้างขวาง และรวดเร็ว"
"สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนอย่างทีี่ไม่ควรจะเป็น ปกปิด อำพรางการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรค เพื่อเปิดช่องให้มีการทุจริต แสวงหาผลประโยชน์บนความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ดำเนินนโยบายที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน”
หากยังจำกันได้ก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิดในระลอกสอง “อนุทิน” ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2563 ถึงมาตรการป้องกันโควิด-19 เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า
“เพราะเวลานี้ความพร้อมของเรามีเต็มที่ อย่างไรก็สามารถควบคุมได้ อีก 6 เดือนก็มีวัคซีนออกมา จึงขอให้มั่นใจ ไม่จำเป็นต้องปิดจังหวัด เพราะโควิดกระจอก ถ้าเราเข้าใจและมีอาวุธพร้อมสามารถรับมือได้”
ทว่า หลังจากนั้นเพียง 2 สัปดาห์ คือวันที่ 19 ธ.ค.2563 น.พ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย พล.ต.ท.ธนา ชูวงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 และ นายวีระศักดิ์ วิจิตรแสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมแถลงข่าวหลังพบหญิงอายุ 67 ปี เจ้าของแพกุ้ง ในตลาดกุ้ง จ.สมุทรสาคร เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ก่อนแพร่สู่คนในครอบครัวรวม 7 คน
โดยพบว่า ผลการคัดกรองในกลุ่มแรงงานต่างด้าวเชิงรุก ซึ่งมีการคัดกรอง 1,192 ราย พบผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนสูงถึง 516 ราย สูงที่สุดนับตั้งแต่ที่ประเทศไทยเผชิญกับการรุกรานของไวรัสมรณะชนิดนี้
กว่า 1 เดือนที่ไทยเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด ที่กลายเป็น “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” ระลอกใหม่ นับจนถึง ณ ปัจจุบัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงไต่ระดับอยู่ที่ 3 หลัก และไม่มีทีท่าจะลดลง ยิ่งไปกว่านั้นผลที่เกิดขึ้นยังกระทบทั้งเศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างกว้างขวาง
แม้กรณีที่เกิดขึ้นจะมีต้นตอหลักมาจากกลุ่มคน หรือเจ้าหน้าที่บางกลุ่ม ทั้งที่เจตนา หรือบกพร่อง ปล่อยปะละเลยให้เกิดการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว รวมถึงการลักลอบเปิดบ่อนเล่นการพนัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานด้านความมั่นคงที่จะต้องดำเนินการ
แต่สำหรับ “อนุทิน” ในฐานะเจ้ากระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับดูแลสถานการณ์ เพื่อหาแนวทางและมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นแล้ว ถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการ “การตรวจเชิงรุก” ที่มีการระบุว่า “ยิ่งตรวจเยอะ ยิ่งเจอเยอะ” มีมากน้อยเพียงใด
ไม่ต่างไปจากการจัดหาวัคซีน ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกตั้งข้อสังเกต พร้อมข้อท้วงติงเกี่ยวกับความโปร่งใส รวมถึงความคุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไป ทำไปทำมาลามกลายเป็นประเด็นการเมือง มีการตอบโต้กันไปมา จนถูกมองว่าไม่ต่างอะไรกับเกมการเมือง ระหว่างพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาล
เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2564 “อนุทิน” ให้สัมภาษณ์ตอบโต้ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ประเด็นการจัดซื้อวัคซีนที่ล่าช้า รวมถึงการเปิดสัญญาการจัดซื้อวัคซีน ที่ทำกับบริษัท แอสตร้าเซนเนกา จำกัด กับ สยามไบโอไซเอนซ์ว่า “ไม่สามารถทำได้เนื่องจากคู่สัญญาเป็นเอกชนทั้งคู่ และอยู่เหนือการควบคุมของรัฐ”
จากการไร้ซึ่งคำชี้แจง “เชิงข้อมูล” หรือ “งัดหลักฐาน” ขึ้นมาต่อสู้ แต่เป็นเพียงการสาดวาทกรรมตอบโต้กันไปมานี้เอง จึงไม่แปลกที่ประเด็นต่างๆเหล่านี้จะกลายเป็นประเด็นที่ฝ่ายค้านเลือกที่จะ “ฉกชิง-ฉวยโอกาส” มาเป็นประเด็น“ขยายแผลใหญ่” กลางสภา
จริงอยู่ที่แม้เสียงของฝ่ายค้านที่มีอยู่ราว 240 เสียง จะไม่สามารถทำอะไรรัฐบาลได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นโอกาสขอฝ่ายค้านจะอาศัยจังหวะนี้ ในการเขย่าคะแนนนิยมของพรรครัฐบาล โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีหัวหน้าพรรคชื่อ “อนุทิน ชาญวีรกูล” ...