'สูตินรีแพทย์' ร้องผู้ตรวจฯ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญชะลอบังคับใช้กฎหมายทำแท้ง
"สูตินารีแพทย์" ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชะลอบังคับใช้แก้กฎหมายทำแท้ง
วันที่ 4 ก.พ. พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน รับเรื่องร้องเรียนจาก นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และกลุ่มผู้แทนแพทย์-พยาบาล และกลุ่มสูตินารีแพทย์ กรณีวุฒิสภามีเมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา มีมติผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการทำแท้ง หลังพิจารณา 3 วาระรวดด้วยคะแนน 166 เสียง ไม่เห็นชอบ 7 เสียง และงดออกเสียง 21 เสียง ต่อพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ที่แก้ไขมาตราว่าด้วยการทำแท้ง โดยขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2560 ร้องเรียนมายังผู้ตรวจการแผ่นดินให้ใช้อำนาจตามมาตรา 231 ในการเสนอเรื่องพร้อมความห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย กรณีการแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่... พ.ศ... มาตรา 301 มาตรา 305(4) มาตรา 305(5) มีปัญหา เกี่ยวกับความชอบต้วยรัฐธรรมนูญ อันขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26 ประกอบมาตรา 4 และมาตรา 77 หรือไม่
ทั้งนี้ ในเนื้อหากฎหมายดังกล่าวระบุว่า มาตรา 301 ทำแท้งได้หากอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หากเกินมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 305 (1)ทำได้หากการตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจ มาตรา 305 (2)ทำได้หากทารกมีความผิดปกติทางกายหรือจิตใจถึงขนาดพิการอย่างร้ายแรง มาตรา 305 (3)ตั้งครรภ์เนื่องจากถูกล่วงละเมิดทางเพศ มาตรา 305 (4)มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ และยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ มาตรา 305 (5)อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ยืนยันยุติตั้งครรภ์ ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือก ตามที่กฎหมายกำหนด โดยต้องทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและทำตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา
สำหรับประเด็นปัญหา 1.ต้องทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมมีอาชีพช่วยชีวิต แต่การยุติชีวิตโดยไม่มีข้อบ่งชี้ด้านอันตรายต่อมารดาหรือทารกหรือคดีละเมิดทางเพศ ถือเป็นบริบทใหม่ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมกลับไม่เคยได้รับการสอบถามความคิดเห็นและศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งทางอินเตอร์เน็ต ทางเอกสาร หรืออื่นๆ แต่อย่างใด ทั้งที่แพทย์ส่วนใหญ่มีสถานที่ทำงานสังกัดรัฐและเอกชน และสถานที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่ง ตามทะเบียนสมาชิกราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และทะเบียนสมาชิกแพทยสภา
หากมาตรา 305(4) 305(5) ถูกบังคับใช้ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจำต้องปฏิบัติงานเพื่อยุติชีวิตทารกที่มีขนาดใหญ่ มีอวัยวะภายในและภายนอกครบถ้วนแล้ว โดยสถิติของทะเบียนราษฎร์ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ยึดมั่นในศีล 5 ข้อเป็นหลักนำทางชีวิต และข้อที่หนักและสำคัญที่สุดคือ ศีล ข้อที่หนึ่ง เรื่องฆ่าสัตว์ตัดชีวิต หากละเมิด ย่อมมีรู้สึกขัดแย้งภายใน ความเชื่อทางศาสนา ศีลธรรม บาปบุญ ต่อตัวเองและครอบครัว เป็นปัจเจกบุคคล จะล้มล้างไม่ได้
2.ทำตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา จนถึง ณ วันนี้เกณฑ์ของแพทยสภาก็ยังไม่ประกาศออกมา ยกตัวอย่างเช่น เกณฑ์ของแพทยสภาจะจัดให้ผู้ประกอบวิชาชีพทั่วไปทำได้หรือไม่หรือจำเป็นต้องให้สูติแพทย์ทำเท่านั้น เนื่องจากในอดีตเคยมีการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ทั่วไปที่ทำหัตถการด้านวิสัญญีแก่คนไข้ แล้วเกิดภาวะแทรกซ้อน รวมถึงแพทย์ที่ไม่ใช่รังสีแพทย์อ่านฟิมพ์เอกซเรย์ปอดแล้วถูกดำเนินคดีอาญา แพทย์จึงหวั่นใจว่านโยบายหรือแนวปฏิบัติที่แพทยสภายังไม่ประกาศออกมา แพทย์จึงเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกฎหมายซึ่งกำลังจะถูกบังคับใช้นี้ หากวันนี้เกณฑ์ของแพทยสภาประกาศออกมา ก็ย่อมต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจมีต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เนื่องจากเป็นกฎหมายให้ทำหัตถการยุติชีวิตทารกที่มีลักษณะปกติในครรภ์มารดา เป็นบริบทใหม่ซึ่งแตกต่างจากการรักษาโรคทั่วไปและผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ส่วนหนึ่งที่ไม่ใช่สูติแพทย์ไม่มีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน
นอกจากนี้ จากคำประกาศของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยฉบับลงวันที่ 25 ธันวาคม 2563 เป็นคำประกาศก่อนการเปิดรับฟังความเห็นของสูตินรีแพทย์ผู้ปฏิบัติ ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติการในทุกขั้นตอน คือการวินิจฉัย การยุติครรภ์ในทารกที่มีลักษณะปกติในมาตรา 301, 305(4), 305(5) การรักษาภาวะแทรกซ้อนซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากการยุติการตั้งครรภ์ (ซึ่งทารกลักษณะปกติ) เช่นอาจเกิดมดลูกแตก และที่สำคัญยิ่งบทบาทความรับผิดชอบของสูติแพทย์ด้านกฎหมายหากเกิดภาวะแทรกซ้อนอันอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ในทางการแพทย์ ซึ่งขั้นรุนแรงที่สุดอาจมีอันตรายถึงชีวิต(ตัวอย่างเช่นภาวะน้ำคร่ำทะลักเข้าอุดกั้นเส้นเลือดในปอด ซึ่งเกิดขึ้นเองได้โดยธรรมชาติและฉับพลัน) โดยอาจเกิดขึ้นได้ในมาตรา 305 ซึ่งมีอายุครรภ์มากขึ้นแม้แพทย์จะรักษาอย่างถูกต้องปกติก็ตาม
ทั้งนี้ กลุ่มสูติแพทย์ผู้ร้องเคารพคำตัดสินของศาลรัฐธรรมธรรมนูญเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ก่อนที่กฎหมายฉบับนี้จะถูกประกาศบังคับใช้ ขออำนาจศาลรัฐธรรมนูญโปรดพิจารณาวินิจฉัยว่ากฎหมายที่จะออกใหม่นี้ ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 77 วรรค 2 หรือไม่หากขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 77 วรรค 2 จริง กลุ่มผู้ร้อง ผู้มีส่วนได้เสีย ขออำนาจศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคุ้มครองชั่วคราว ชะลอการบังคับใช้ออกไปก่อน เพื่อนำไปสู่การทบทวนก่อนประกาศบังคับใช้ต่อไป