“ญัตติ”ตีความแก้รัฐธรรมนูญ” ปัญหา “รัฐสภา” ทำเกินอำนาจ?

“ญัตติ”ตีความแก้รัฐธรรมนูญ”  ปัญหา “รัฐสภา” ทำเกินอำนาจ?

วันนี้ "รัฐสภา" มีวาระลงมติในญัตติที่ขอให้ส่งตีความ อำนาจ "ส.ส.-ส.ว." ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านบทบัญญัติโอนอำนาจแก้ให้ "ส.ส.ร." ยกร่างทั้งฉบับ แน่นอนว่า ได้เสียงสนับสนุนท่วม แต่รายละเอียดของเรื่องนี้ "รัฐสภา" มีอำนาจพิจารณาญัตติที่ว่านี้หรือไม่?

      แม้ขณะนี้ “คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) รัฐสภา” จะจัดทำ "ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ" แล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างตรวจเนื้อหาก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 24- 25 กุมภาพันธ์นี้

      แต่กลับพบกระแสของกระบวนการสกัดกั้น เพราะ “ญัตติของ ส.ส.พลังประชารัฐ นำโดย ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ร่วมกับ ส.ว.จำนวนหนึ่ง นำโดย สมชาย แสวงการ” จะเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ลงมติว่าจะส่งไปศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อให้วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่ และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2)

161282876288

      ซึ่งการลงมติที่ว่านั้นใช้เพียง “เสียงข้างมากของที่ประชุม” โดยไม่มีเกณฑ์เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง จึงทำให้หลายคนเชื่อว่า การลงมตินี้จะผ่านฉลุย

      เพราะแค่การระดมเสียง ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่ง วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานวิปรัฐบาล ยืนยันว่าทั้ง 121 เสียง​ จะลงมติให้ยื่นต่อศาลบวกกับเสียง ส.ว. แค่ 200 เสียง ก็สามารถเอาชนะ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่มี 210 เสียงได้

      ดังนั้นหากรัฐสภาเดินหน้าลงมติ เชื่อแน่ว่าจะไม่มีพลิก หรือเป็นปัญหา

      แต่ก่อนจะถึงชั้นนั้น มีประเด็นที่ฝ่ายเห็นต่างอาจใช้เป็นข้อต่อสู้ได้ คือ อำนาจของรัฐสภามีเพียงพอหรือไม่ เพราะในประเด็นของญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องแก้รัฐธรรมนูญนั้น เคยวินิจฉัย “ไม่บรรจุระเบียบวาระ” มาแล้วรอบหนึ่ง

      แต่ครั้งนั้น เป็นการพิจารณาในชั้นทำงานฝ่ายกฎหมาย ที่ชื่อว่า “คณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาเพื่อประกอบการ พิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภา” ที่มี เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนเก่า “สรศักดิ์ เพียรเวช” เป็นประธาน และมีข้อสรุปคือ

      ไม่มีบทบัญญัติใดของรัฐธรรมนูญรองรับ และหากบรรจุให้รัฐสภาพิจารณาจะทำให้ “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา รับภาระเกินความจำเป็น

161282889023

      ในครั้งนั้น ฝ่ายกฎหมายสภาฯ ยกรายละเอียดพิจารณา ตั้งต้นที่ว่า ญัตติที่ “ไพบูลย์” เสนอนั้นเข้าสถานะเรื่องที่รัฐสภาสามารถประชุมพิจารณาได้หรือไม่ โดยยึดมาตรา 156 ตั้งแต่ (1)-(16) ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นหลัก ซึ่งไม่พบลักษณะใดที่ตรงกับมาตรา 156 ยกเว้น (16) ที่เปิดช่องว่า “กรณีอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ”

      ในที่นี้คือ การพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูป การพิจารณาปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน การตราพระราชกำหนดฉบับสำคัญ ที่เกี่ยวกับความมั่นทางเศรษฐกิจ ป้องกันภัยพิบัติ เป็นต้น

      ซึ่งในความตามญัตตินั้นไม่เข้าข้อใดใน “กรณีอื่น” และเมื่อพิจารณาตามข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ที่กำหนดแนวทางปฏิบัติว่าด้วยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่ และอำนาจของรัฐสภา พบว่ามีข้อ 31 ระบุไว้ เพียงแนวทางที่กำหนดการใช้เสียงรับรองญัตติ ที่ขอให้รัฐสภามีมติว่ากรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามมาตรา 210(2) ที่ใช้เสียงรับรอง ไม่น้อยกว่า 40 คน

      ทั้งนี้ มาตรา 210(2) ที่ว่านั้น ไม่ใช่อำนาจของรัฐสภาโดยตรง แต่เป็นการเขียนกรอบหน้าที่ให้กับ “ศาลรัฐธรรมนูญ”

      ดังนั้น ฝ่ายกฎหมายชุดของ “สรศักดิ์ เพียรเวช” จึงสรุปเป็นความเห็นเสนอต่อ “ประธานรัฐสภา” ว่า ญัตติของ “ไพบูลย์” นั้น “เกินความของรัฐธรรมนูญ” ทำให้รอบแรกญัตติดังกล่าวไม่ถูกบรรจุไว้ในระเบียบวาระ

      แต่พ้นจากนั้น 2 เดือน ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ญัตติของ “ไพบูลย์” ถูกยื่นซ้ำอีก โดยรอบนี้มี “สมชาย แสวงการ ส.ว.” ร่วมนำคณะยื่น พร้อมกับ ส.ว. และส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ​รวม 72 คน

    ตามขั้นตอนเรื่อง ถูกส่งให้ "คณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของ ประธานรัฐสภา" พิจารณาอีกครั้ง

      แต่รอบนี้ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาฯ​ เปลี่ยนแปลงเป็น “พรพิศ เพชรเจริญ” เนื่องจาก “สรศักดิ์” เกษียณอายุราชการ

     แนวของความเห็นที่ถูกเสนอ พบว่าได้พิจารณาของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุม ซึ่งผลออกมาเป็นไปในทำนองเดียวกัน แต่ที่แตกต่างคือ ความเห็นเพิ่มเติมที่แนบมาว่าบรรจุวาระได้ "เพื่อให้ไม่เกิดทางตันของกฎหมาย ประเด็นการตีความ”

      ทำให้รอบล่าสุดนั้น ความพยายามของญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจของรัฐสภา จึงได้รับการบรรจุ และที่ประชุมร่วมรัฐสภาเตรียมลงมติกันวันนี้

      เชื่อแน่ว่าจะได้เห็นมุมมองทางกฎหมาย พ่วงกับมุมมองทางรัฐศาสตร์ ที่ผสมและเชื่อมโยงถึงประเด็น “รัฐบาล” อยู่เบื้องหลังการเตะตัดขา “แก้รัฐธรรมนูญ” ที่ “ฝ่ายค้าน” เตรียมเคลมว่านี่คือผลงานชิ้นโบว์แดง.