พาเหรด “เจ้าของ-ผู้ถือหุ้น” ติดหล่ม จำนำหุ้นใน – นอกตลาดหุ้น
เกิดเป็นปรากฎการณ์ บจ. ไทยเผชิญความเสี่ยง และท้าทายมาตรฐานธรรมภิบาล จากราคาหุ้นดิ่งร่วงฟลอร์ติดๆ กันจนเป็นที่กล่าวถึงกันมากว่ามีสาเหตุมาจากการ “บังคับขายหุ้น” หรือ Force sell
ที่ตั้งต้นปัญหา “เจ้าของ – ผู้ถือหุ้น” นำหุ้นไปจำนำซะเองจนเกินลิมิต พากระทบความน่าเชื่อถือของหุ้นดังกล่าวไปด้วย
ประเดิมรายแรกปี 2568 ราคาหุ้นบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ราคาฟลอร์ 2 วันติด (7-8 ม.ค.) จากราคา 5.35 บาท อยู่ที่ 2.62 บาท มูลค่ามาร์เก็ตแคปหายวับไป 6,000 ล้านบาท และยังเป็นราคาต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2556 หรือ ในรอบเกือบ 12 ปี ท่ามกลางคาดการณ์ว่าหุ้น RS เผชิญ Force sell หุ้น
และยังมีผลไปยังหุ้นในกลุ่ม บริษัท อาร์เอสเอ็กซ์วายแซด จำกัด (มหาชน) หรือ RSXYZ (อดีตหุ้น GIFT) ราคาลงมาฟลอร์เช่นกัน จากราคาหุ้น 1.55 บาท อยู่ที่ 0.81 บาท
ด้วยข้อมูลรายงานหลักทรัพย์ค้ำประกันในบัญชีมาร์จิน หรือบัญชีกู้ยืมจากโบรกเกอร์ พ.ย. 2567 มีหุ้น RS วางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน 222 ล้านหุ้น หรือ 10.18 % จากจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด ซึ่งเทียบกับสัดส่วนถือหุ้นอันดับ 1 “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชรษฐโชติศักดิ์ ถือหุ้น 487 ล้านหุ้น หรือ 22.32 % และอันดับ 2 “โสรัตน์ วณิชวรากิจ” ถือหุ้น 215 ล้านหุ้น หรือ 9.88 % เป็นไปได้สูงรายการ Force sell จะมาจากผู้ถือหุ้น 1 ใน 2 รายนี้
หุ้น RSXYZ ยังมีปริมาณวางค้ำประกันบัญชีมาร์จินเช่นเดียวกันจำนวน 31 ล้านหุ้น หรือ 2.02 % จากจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด ซึ่ง “เฮียฮ้อ” ถือหุ้นใน RSXYZ อันดับ 2 ที่ 257 ล้านหุ้น หรือ 16.35 % ส่วนอันดับ 1 บริษัท เชรษฐโชติ โฮลดิ้งส์ จำกัด 316 ล้านหุ้น หรือ 20.10%
ขณะเดียวกันหุ้น RS ยังมีการเปิดสัญญา Block Trade ใน Single Stocks ตลาดฟิวเจอร์ จากข้อมูลวันที่ 8 ม.ค. 68 มีตั้งแต่ซีรี่ย์ที่หมดอายุ ม.ค. 68 จนไปถึง ธ.ค. 68 ที่สำคัญยังมีปริมาณสัญญา 383 สัญญา และสถานะคงค้างถึง 78,250 สัญญา ถือว่าเป็นปริมาณที่สูง และบ่งบอกได้ว่ายังมีปริมาณหุ้นให้เทขายหุ้นระลอกใหญ่จากหุ้นที่อยู่ใน Single Stock
เคสหุ้น RS ที่เกิดขึ้นยังมีประเด็นที่น่ากังวลใจตามมาว่าสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายใหญ่มีความเสี่ยงจะเปลี่ยนแปลงไป ภายใต้ธุรกิจมีความเสี่ยงจากกำไรที่ลดลง ยิ่งกำไรจากธุรกิจหลักไม่มั่นคงสถานะการเงินมีความเสี่ยงจากสภาพคล่องเหลือ 300 ล้านบาทมีหนี้สินชำระทั้งระยะสั้นระยะยาว 1,500-2,000 ล้านบาท ส่งผลทำให้ “ข่าวร้าย” ของหุ้น RS ยังไม่จบซะทีเดียวด้วยราคาหุ้น 2 ฟลอร์ ที่ผ่านมา
นอกจากหุ้น RS ที่เผชิญผลกระทบด้านราคาและการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น ที่ผ่านมาเหล่าบรรดา ผู้บริหารบจ. ทั้งที่เป็นหุ้นใหม่ และหุ้นที่อยู่ในตลาดหุ้นไทย ต่างติดหล่มปัญหา “จำนำหุ้น” ในและนอกตลาดหุ้นหลายต่อหลายเคส
ตั้งแต่ปี 2567 บรรดาหุ้นที่ราคาดิ่ง ตามด้วยราคาฟลอร์ และมีการเฉลยนำหุ้นไปจำนำมีจำนวนมากแต่ยังไม่กระทบในเชิงโครงสร้างผู้ถือหุ้นจนเสียบริษัท หรือ ยอมทิ้งบริษัทไป เช่นหุ้นคอนเนอร์แตก จากราคาหุ้น JMART และในกลุ่ม SCC-SGC
ถัดมา NEXผู้ถือหุ้นเทขายหุ้นถูก Force sell และรายงานข้อมูลขายหุ้นไม่ตรงกัน กระทบหุ้น EA “สมโภชน์ อาหุนัย” ยอมรับถูก Force sell จากจำนำหุ้นตัวเอง หรือ หุ้น YGG ผู้ถือหุ้นใหญ่ “ธนัช จุวิวัฒน์” รับมีการนำหุ้นไปจำนำ
กรณีที่กระทบรุนแรงเพราะเกิดการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่ข้ามคืน SCM หุ้นราคาร่วง 4ฟลอร์จาก Force sell และผู้ถือหุ้นใหญ่เหลือหุ้นในมือแค่ 5 % จาก34 % และที่กลายเป็นคดีความลุกลาม หุ้น SABUY ผู้ถือหุ้นใหญ่เทขายหุ้น มีการเปิดงบนำหุ้นไปจำนำ นำเงิน SBNEXT ไปซื้อหุ้น จนมีการตรวจสอบและพบการกระทำความผิด และหุ้น THG “นพ.บุญ วนาสิน” อาศัยความน่าเชื่อถือจำนำหุ้นนอกตลาดระดับหมื่อนล้านบาท กระทั่งถูกหมายจับข้อหาฉ้อโกงเช็คเด้ง-ปลอมเอกสารใบหุ้น