แก้รัฐธรรมนูญสะดุด ยื่นตีความ "ล้ม ส.ส.ร."
เมื่อรัฐสภา มีมติเสียงข้างมาก ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจของรัฐสภาต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉายภาพที่ชัดเจน ถึง "กระบวนการยื้อ และ ขวางการแก้ไขเพิ่มเติมกติกาสูงสุด" และส่อว่าจะล้มกระดาน ส.ส.ร.
มติที่ประชุมร่วมรัฐสภา 366 ต่อ 316 เสียง
ที่เห็นชอบส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยปมหน้าที่และอำนาจของ “รัฐสภา” ต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ด้วยกระบวนการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ด้วยกลไกของ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ ส.ส.ร.ทำได้หรือไม่ ตามญัตติที่เสนอโดย “ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พลังประชารัฐ และสมชาย แสวงการ ส.ว.”
ทำให้ภาพล้มกระดานแก้รัฐธรรมนูญโดยตัวแทนของประชาชนปรากฎชัดยิ่งขึ้น
แม้กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาขณะนี้ จะเริ่มต้นไปแล้ว และอยู่ระหว่างที่รัฐสภาจะพิจารณาในวาระสอง วันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ หลังจากกรรมาธิการที่ได้รับมอบหมายจัดทำเนื้อหาแล้วเสร็จ
สำหรับหัวใจของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ อยู่ที่บทบัญญัติให้มี ส.ส.ร.มาจากตัวแทนประชาชน 200 คน ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ในการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา ซีกเสียงข้างน้อย 316 เสียง พยายามยกเหตุผลและข้อโต้แย้งการส่งเรื่องหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาไปตีความที่ศาลรัฐธรรมนูญ
ประเด็นที่ถูกไฮไลต์คือ รัฐสภาไม่มีอำนาจพิจารณาญัตติที่เสนอ เพราะรัฐธรรมนูญว่าด้วยหลักกณฑ์ที่ให้รัฐสภาประชุมร่วมกันในมาตรา 156 ไม่ได้กำหนดให้เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำได้ ตามการตีความตามกฎหมายมหาชนที่ระบุว่า หากรัฐธรรมนูญไม่เขียน จึงไม่สามารถทำเรื่องนั้นๆ ได้
โดยเรื่องมาตรา 156 เคยถูกนำถกเถียงมาแล้วรอบหนึ่ง เมื่อญัตติของ “ไพบูลย์” เสนอเรื่องดังกล่าว ให้พิจารณาช่วงเดือนกันยายน 2563 กรณีคณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภา ซึ่งมีเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนเก่า “สรศักดิ์ เพียรเวช” เป็นประธาน ทำความเห็นไว้ว่า "ไม่มีบทบัญญัติใดของรัฐธรรมนูญรองรับ และหากบรรจุให้รัฐสภาพิจารณา จะทำให้ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา รับภาระเกินความจำเป็น
ในครั้งนั้นฝ่ายกฎหมายสภาฯ ยกรายละเอียดพิจารณาตั้งต้นว่าญัตติที่ “ไพบูลย์” เสนอนั้นเข้าสถานะ เรื่องที่รัฐสภาสามารถประชุมพิจารณาได้หรือไม่ โดยยึดมาตรา 156 ตั้งแต่ (1)-(16) ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นหลัก ซึ่งไม่พบลักษณะใดที่ตรงกับมาตรา 156 ยกเว้น (16) ที่เปิดช่องว่า “กรณีอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ” ในที่นี้คือการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูป ซึ่งในความตามญัตตินั้นไม่เข้าข้อใดใน “กรณีอื่น”
เมื่อพิจารณาตามข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภาที่กำหนดแนวทางปฏิบัติ ว่าด้วยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา พบว่ามีข้อ 31 ระบุไว้ แต่เป็นเพียงแนวทางที่กำหนดการใช้เสียงรับรองญัตติที่ขอให้รัฐสภามีมติว่า กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามมาตรา 210(2) ที่ใช้เสียงรับรองไม่น้อยกว่า 40 คน
ทั้งนี้ มาตรา 210(2) ที่ว่านั้น ไม่ใช่อำนาจของรัฐสภาโดยตรง แต่เป็นการเขียนกรอบหน้าที่ให้กับ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ฝ่ายกฎหมายในชุดของ “สรศักดิ์” จึงสรุปว่า ญัตตินั้น “เกินความของรัฐธรรมนูญ” ทำให้ไม่ถูกบรรจุไว้ในวาระ
เมื่อญัตติดังกล่าว กับคนยื่นญัตติเจ้าเดิม แต่เพิ่มคนสนับสนุนเป็นกลุ่ม ส.ว. ทำให้การพิจารณาก่อนบรรจุญัตติเกิดขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2563 และครั้งนั้น “คณะกรรมการเสนอความเห็นฯ” เปลี่ยนประธานเป็น “พรพิศ เพชรเจริญ” เลขาธิการสภาฯ เนื่องจาก “สรศักดิ์” เกษียณอายุราชการ
ได้ข้อสรุปใหม่คือ บรรจุญัตติได้ เพื่อไม่ให้เกิดทางตันทางกฎหมาย
จึงเป็นจุดเริ่มที่นำมาสู่ผลลัพธ์ของการลงมติเสียงข้างมากของที่ประชุมรัฐสภา ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ
เรื่องนี้ถูกวิจารณ์จากผู้ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า จะทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ที่ทำตามลำดับขั้นตอนต้องสะดุด และคาดการณ์ถึงผลลัพธ์ว่า “ล้มกระดาน” การยกร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านตัวแทนประชาชน คือ “ส.ส.ร.”
เหตุผลที่วิจารณ์หนักคือ การไม่ยอมวางมือจากอำนาจและผลประโยชน์ทางกฎหมายที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ที่ผันตัวเองมาเป็น "คณะการเมือง” และไม่ยอมให้ใครเตะต้องรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นมรดกของคณะทหาร.