'ปริญญ์' ดึงเอกชนหารือ 'ก.ล.ต.' ถกวง 'คลับเฮาส์' หนุนลดกฏเกณฑ์ลงทุนคริปโทเคอร์เรนซี
"ปริญญ์" ดึงเอกชนหารือ "ก.ล.ต." ถกวง 'คลับเฮาส์' หนุนลดกฏเกณฑ์ลงทุนคริปโท หวั่นปิดกั้นธุรกิจ แนะทบทวนก่อนมีผล "สตาร์ทอัพฟินเทค" ไทย
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) เปิดพื้นที่เชิญ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล กรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมหารือกับผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลภาคเอกชนไทย นำโดยนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บิทคับแคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งนายปรมินทร์ อินโสม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด นายสัญชัย ปอปลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทคริปโตมายด์ จำกัด และนางสาวพราว ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่กลยุทธ์บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด เกี่ยวกับการกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี หลังพบประชาชนจำนวนมากมีความกังวลใจและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยในวันเดียวกันนี้ยังได้เปิดคลับเฮาส์ชวนประชาชนทั่วไปร่วมถกประเด็นดังกล่าวด้วย
นายปริญญ์ กล่าวว่า ในฐานะอดีตกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเป็นที่ปรึกษาสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ที่ทำงานด้านนี้มานานกว่า 7 ปี มีความเข้าใจดีถึงความกังวลใจของหลายฝ่ายเกี่ยวกับการที่ก.ล.ต.ได้เสนอเบื้องต้นกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี ให้มีรายได้ต่อปี 1 ล้านบาทขึ้นไป และกำหนดให้ต้องผ่านการทดสอบความรู้ก่อนการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล จึงอาสาเป็นตัวกลางที่เชิญทั้ง ก.ล.ต. ผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลภาคเอกชน และประชาชนมาร่วมแสดงความคิดเห็นกันแบบเรียลไทม์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการนำเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) โดยเฉพาะบล็อกเชน ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากทั่วโลก มาใช้พัฒนาอุตสาหกรรมการเงินยุคใหม่ของไทยให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ผ่านการสนับสนุนสตาร์อัพไทยที่มีศักยภาพ ดังที่ตนและทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป.พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง
ด้านนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เปิดเผยว่า ทุกวันนี้คนไทยจำนวนไม่น้อยมองการลงทุนและการเก็งกำไรเป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น ต้องกู้ยืมเงินเพื่อมาซื้อบิตคอยน์ เพราะมองการเก็งกำไรเป็นการลงทุน จนไม่ได้เผื่อใจที่จะขาดทุน ทำให้เกิดหนี้สิน รวมถึงปัจจุบันมีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ เข้ามาสู่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลกันมากขึ้น ก.ล.ต.ในฐานะผู้ให้ใบอนุญาตแก่นักลงทุนมีความเป็นห่วง จึงได้ลองตั้งโมเดลกฎเกณฑ์การกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี ออกมาให้ประชาชนได้ลองอ่านแล้วตกผลึกเพื่อแสดงความคิดผ่านระบบ “hearing” ของ ก.ล.ต.ว่าแท้จริงแล้วต้องการคุ้มครองในลักษณะใด ซึ่งยืนยันว่านี่เป็นเพียงการ “โยนหินถามทาง” เท่านั้น ยังไม่ใช่กฎเกณฑ์ที่จะบังคับใช้ทันที
ขณะที่นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ให้ความเห็นว่า ตนเข้าใจว่าธุรกิจด้านสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเรื่องใหม่ที่ทำให้ก.ล.ต.เกิดความกดดันแต่ก็ไม่ควรสร้างกำแพงปิดกั้นธุรกิจที่กำลังเติบโต หากมีกฎเกณฑ์ที่มากเกินไป จะยิ่งเป็นข้อจำกัดมากขึ้นเท่านั้น ในระยะยาวอาจทำให้สถาบันการเงินแบบใหม่ของไทยค่อย ๆ หายไป และคนจะไปใช้แพลตฟอร์มของต่างชาติมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออธิปไตยด้านการเงินของประเทศ
ส่วนนายปรมินทร์ อินโสม ได้เสนอข้อคิดเห็นเพิ่มเติม ดังนี้ 1. หากประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นแล้วพบว่าผู้ลงทุนไม่สามารถรับความเสี่ยงได้ ควรเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนนำหลักฐานอื่นมาแสดงเพิ่มเติม เพื่อยืนยันถึงความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตนเอง 2. ควรกำหนดให้ผู้ต้องการเข้ามาสู่ตลาดคริปโทเคอร์เรนซี ต้องทำแบบทดสอบผ่านเกณฑ์ก่อนเท่านั้น และ 3. เสนอให้ ก.ล.ต. กำหนดเกรดของคริปโทเคอร์เรนซีประเภทต่างๆ เพื่อคัดกรองผู้เข้าถึงการลงทุน
นอกจากนี้ ยังมีความคิดเห็นที่น่าสนใจอีกมากจากหลายท่าน อาทิ การกำหนดเรื่องอายุ อาจเป็นการผลักให้เยาวชนไปเจอกับความเสี่ยงที่มากกว่า เพราะต้องฝากผู้อื่นดำเนินการแทน และอาจทำให้คนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจเก็บเงินมาซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลหมดกำลังใจไปได้รวมทั้งมีเสนอให้ ก.ล.ต. หันไปให้ความสำคัญในเรื่องการองค์ความรู้กับประชาชนแทนการกำหนดกฎเกณฑ์ใหม่ขึ้นมา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ไปจนถึงวันที่ 27 มีนาคม 2564 ผ่านทาง https://bit.ly/3bNGFgi