‘ปฏิบัติการไอโอ’ ไล่ล่ากองทัพ เมื่อการเมืองแทรกซึมทหาร
การกระจุกตัวในการเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญตั้งแต่ระดับผู้บังคับหน่วย ไปจนถึงระดับ ‘บิ๊กกองทัพ’ ของทหารกลุ่มหนึ่ง ผลักดันให้ทหารกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ และรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม เลือกที่จะป้อนข้อมูลลับๆ ให้กลุ่มการเมือง
หากย้อนกลับไปในช่วงปรับย้ายทหารปลายปี 2563 ก่อนจะมีการประกาศรายชื่อในราชกิจจานุเษกเพียงไม่กี่วัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ฝากข้อความสำคัญผ่าน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ในขณะนั้น ไปถึง ‘ผู้บังคับหน่วย-ผู้บังคับกองพัน’ ทั่วประเทศ
โดย พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้ ‘กองทัพบก’ เป็นหนึ่งเดียว และเป็นเสาหลักในการปกป้องอธิปไตยของชาติ จะแตกแยกไม่ได้ เพราะการปรับย้าย ย่อมมีคนสมหวังไม่สมหวัง เช่นเดียวกับทหารชั้นนายพล ที่จะพิจารณาจากขีดความสามารถมากกว่าความอาวุโส พร้อมให้ความเชื่อมั่นว่าทุกหน่วย มีโอกาสเจริญก้าวหน้าที่ทัดเทียม สลับปรับเปลี่ยนหมุนเวียนอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากการปรับย้ายนายทหาร มีมาตั้งแต่อดีต แม้ผู้นำเหล่าทัพหลายคนตั้งใจจะแก้ไขปัญหา หวังทลายรุ่น กลุ่มก้อน ไม่มี ‘บูรพาพยัคฆ์-วงศ์เทวัญ-หมวกแดง ’ เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่น แต่สุดท้ายทุกอย่างก็กลับสู่วงจรเดิม
ในอดีตปัญหาการกระจุกตัวในการเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญตั้งแต่ระดับผู้บังคับหน่วย ไปจนถึงระดับ ‘บิ๊กกองทัพ’ เป็นอย่างไร ปัจจุบันก็ยังคงเป็นแบบนั้น เพียงแต่มีการเปลี่ยนมือจากทหารกลุ่มหนึ่ง ไปยังอีกกลุ่มหนึ่งตามสถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป
ปัจจัยสำคัญ ล้วนมาจากรัฐบาลที่มาจากการพรรคการเมือง และบุคคลภายนอกที่เข้ามาแทรกแซงกองทัพเพื่อวางรากฐานอำนาจของตัวเองให้เกิดความมั่นคง จนผลักดันให้ทหารกลุ่มหนึ่งที่เสียผลประโยชน์ และรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม เลือกที่จะป้อนข้อมูลลับๆ ให้กลุ่มการเมือง ซึ่งในอดีตถูกเรียกว่า “ทหารแตงโม”
เช่นเดียวกับการ “แกะรอย” ปฏิบัติการ“ไอโอ” ของกองทัพ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อมูลต่างๆ ที่หลั่งไหลไปถึงมือ “ฝ่ายค้าน-กลุ่มราษฎร” เพื่อโจมตีรัฐบาล และผู้นำกองทัพ ส่วนหนึ่งก็มาจากกำลังพลในกองทัพบกเองทั้งสิ้น
เช่น คลิปประชุมสั่งการของหน่วยงานทหารแห่งหนึ่ง เมื่อต้นปี 2563 สั่งการโจมตีเพจของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ในขณะยังไม่ถูกยุบพรรค ที่ถูก ส.ส.ก้าวไกล นำไปแฉในศึกซักฟอกรัฐบาลครั้งล่าสุดว่าเป็นการโจมตีฝ่ายตรงข้าม และแบ่งแยกประชาชน
หรือแม้แต่การ ‘อบรมจิตอาสา’ ที่ถูกฝ่ายค้านอธิบายขั้นตอนการปฏิบัติงานของทหารได้เป็นฉากๆ เหมือนได้เข้าร่วมการอบรมเสียเองตั้งแต่การจ้างบริษัทเอกชนผลิตแอปพลิเคชันทวิตเตอร์บรอดแคสต์ และฟรีเมสเซนเจอร์ รวมถึงระบบการคัดกรอง และการตั้งรหัสพัฒนาที่มีชื่อว่า ‘จิตอาสาไอโอ’
ซึ่งประจวบเหมาะกับกรณี “เฟซบุ๊ก” สั่งปิด 77 บัญชี 72 เพจ 18 กลุ่ม และอีก 18 บัญชีในอินสตาแกรม ที่พบความเชื่อมโยงกับปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (ไอโอ)กองทัพ โดยมีเป้าหมายเป็นผู้รับข่าวสารในจังหวัดทางภาคใต้ของไทย ที่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกับรัฐบาล
ในขณะที่ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการ อินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมาย หรือไอลอว์ (iLaw) นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล และนายวิญญู วงศ์สุรวัฒน์ พิธีกรผู้จัดรายการ ได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง กองทัพบก และ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. เพื่อให้ศาลสั่งยุติปฏิบัติการดังกล่าวที่ไม่ถูกต้อง
เรื่องนี้ร้อนถึง ‘พล.อ.ประยุทธ์’ สั่งการด่วนให้ ‘กระทรวงกลาโหม’ เร่งสะสางข้อครหาต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งข้อมูลของฝ่ายค้านที่นำมาแฉกลางรัฐสภา และในส่วนเกี่ยวข้องกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)ปฏิบัติงานพื้นที่อ่อนไหว อย่างจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทันทีทราบข่าว พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ยกหูรายงานด่วนมายังผู้บังคับบัญชา และยืนยันว่า กองทัพภาคที่ 4 ไม่มีปฏิบัติการดังกล่าว พร้อมรับมอบหมายจาก ผบ.ทบ. ให้เตรียมข้อมูลให้พร้อมหากถูกศาลปกครอง เรียกไปชี้แจง
โดยก่อนหน้านี้ ‘กองทัพบก’ ยอมรับว่า "ปฏิบัติการข่าวสาร” หรือไอโอ คือวิชาหนึ่งในหลักสูตรทางทหารของกองทัพบก ที่มีการเรียนการสอนในโรงเรียนทหารของทุกเหล่า และหน่วยทหารระดับต่างๆ สามารถนำไปอบรมเพิ่มพูนความรู้กับกำลังพลภายในหน่วยได้ทุกระดับ แต่ยืนยันว่าไม่ได้บิดเบือน ให้ร้าย หรือโจมตีบุคคลใด
“การใช้โซเชียลมีเดีย เป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกคนมีโอกาสเข้าถึง และคงไปห้ามความคิด ความเชื่อของใครไม่ได้ ” พล.อ.ณรงค์พันธ์ เคยถึงกรณีดังกล่าว หลังถูกฝ่ายการเมืองโจมตีอย่างหนัก
ปฏิบัติการไอโอ กองทัพบกซึ่งถือเป็นหลักสูตรหนึ่งเปิดสอนและอบรมทหารทุกระดับชั้น จะถูกนำไปใช้อย่างสร้างสรรค์ หรือบิดเบือน ให้ร้ายฝ่ายตรงข้าม อย่างที่ถูกกล่าวหา คงยังต้องรอหลักฐานพิสูจน์กันต่อไป
แต่ที่แน่ๆ “กองทัพบก” กำลังเร่งหามือดี หรือ “ทหารแตงโม” ต้นตอการปล่อยข้อมูลลับๆไปสู่ภายนอกกันจ้าละหวั่น