ปลดชนวน 'มีนาเดือด' ชงพื้นที่ 'เซฟโซน-สันติวิธี'
จุดสมดุลในสถานการณ์ขณะนี้ต้องเปิดพื้นที่เจรจา หาทางออกร่วมกัน ไม่ให้เหตุการณ์ขยายตัวนำไปสู่ความรุนแรง
จากเหตุการณ์ความรุนแรงในการชุมนุมระหว่างกลุ่มคณะราษฎรกับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน(คฝ.) ที่หน้าศาลฎีกา สนามหลวงเมื่อวันที่ 13 ก.พ. และการเคลื่อนขบวนของกลุ่ม Redem จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังหน้าไปที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา จนเกิดเหตุปะทะระหว่างมวลชน และหน่วยควบคุมฝูงชนอีกครั้งนั้น
กำลังเป็นสถานการณ์ที่หลายฝ่ายกังวัลว่าจะเป็นชนวน "ยกระดับ" ความรุนแรงในการชุมนุมตลอดเดือน มี.ค. เมื่อการเคลื่อนไหวในนามกลุ่ม Redem ประกาศชัดเจนว่าจะไม่มีแกนนำและการ์ดดูแลผู้ชุมนุม โดยทางฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐยืนยันยึดมั่นแนวปฏิบัติทางกฎหมายเช่นกัน
จากสถานการณ์ล่อแหลมที่ทุกฝ่ายมองการว่าจะเป็นเดือน "มีนาเดือด" ต่อการนัดชุมนุมในพิกัดสำคัญของกรุงเทพฯ รวมถึงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อยู่ในจุดหักเหจากการรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 11 มี.ค. "กรุงเทพธุรกิจ" พาไปพูดคุยกับ "รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย" อาจารย์ประจำคณะสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประเมินทิศทางการชุมนุมท่ามกลางปัจจัยแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นหลังจากนี้
"รศ.ดร.ยุทธพร" มองว่าการชุมนุมตั้งแต่ต้นปี 2564 พบว่ามีการนัดชุมนุมที่ปรับเปลี่ยนรูปโฉม ตั้งแต่การจับกุมและดำเนินคดีแกนนำผู้ชุมนุมหรือความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้เป็นข้อถกเถียงว่าตกลงแล้วความรุนแรงมาจากฝ่ายรัฐหรือผู้ชุมนุม แต่ข้อถกเถียงนั้นสุดท้ายแล้วทำให้การชุมนุมไม่ใช่ "พื้นที่ปลอดภัย" เพราะกลุ่มมวลชนที่ไม่พร้อมจะปะทะก็ไม่กล้าเข้าไปร่วมชุมนุม
ดังนั้นทำให้การชุมนุมต้องปรับเปลี่ยนไป และสถานการณ์ชุมนุมหลังจากนี้มีโอกาสรุนแรงขึ้น เห็นได้จากการชุมนุมวันที่ 13 ก.พ.และ 28 ก.พ.มีความรุนแรงเกิดขึ้นทั้ง 2 ครั้ง แต่การชุมนุมที่เริ่มมีการปะทะกันตรงนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปว่าฝ่ายใดเป็นผู้เริ่มก่อน
"หลังจากนี้มีความเป็นไปได้ที่การชุมนุมจะเข้มข้นกว่าเดิม ซึ่งการชุมคนที่มาร่วมก็ไม่รู้สึกว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยแล้ว ทำให้ผู้ชุมนุมที่ไม่ใช่แนวฮาร์ดคอจะลดน้อยถอยลงไป เท่ากับว่าผู้ชุมนุมที่เหลืออยู่ก็เป็นกลุ่มที่พร้อมเผชิญความเสี่ยงตรงนี้ได้ และมีโอกาสจะเกิดความรุนแรงเกิดขึ้น"รศ.ดร.ยุทธพร ระบุ
ขณะเดียวกัน "รศ.ดร.ยุทธพร" ประเมินท่าทีจากฝ่ายรัฐได้ขยับมาตรการของตัวเองขึ้นมาเรื่อยๆ จากเบาไปหาหนัก จนล่าสุดมีการใช้กระสุนยางแล้ว จากเดิมในการชุมนุมเมื่อปี 2563 จะเห็นได้ว่ามีเพียงการฉีดน้ำเท่านั้นซึ่งถือว่ารุงแรงที่สุดในขณะนั้นแล้ว ส่วนการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐในการควบคุมการชุมนุมนั้น จริงๆ เรามีพรบ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 แต่น่าเสียดายว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า เป็นกฎหมายที่มองแต่มุมของฝ่ายรัฐเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่ได้มองฝั่งผู้ชุมนุมมากเท่าไหร่ เพราะเป็นการมองว่ารัฐจะใช้กำลังหรือใช้อาวุธได้แค่ไหนเพียงไร แต่ไม่ได้บทบัญญัติในการคุ้มครองผู้ชุมนุมที่ชัดเจนมากนัก
"รศ.ดร.ยุทธพร" ชี้ให้เห็นว่าพรบ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 ฉบับนี้ถูกร่างขึ้นจากฝ่ายรัฐ ทำให้การปฏิบัติกับผู้ชุมนุมไม่ต่างจากเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อ 10 ปีก่อน เพราะจบลงด้วยข้อถกเถียงเหมือนเดิมว่า ตกลงแล้วความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากฝ่ายใด และเป็นความรุนแรงที่ควรเกิดขึ้นหรือไม่ และยังเป็นคำถามเดิมที่เคยถามมาแล้ว
ตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) หรือกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการ เปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ทำให้เห็นว่าพัฒนาการการชุมนุมในประเทศไทยยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
ส่วนมุมมองนักรัฐศาสตร์ในการสร้าง "จุดสมดุล" ระหว่างสิ่งที่ผู้ชุมนุมมองเรื่องสิทธิการชุมนุมที่รับรองตามรัฐธรรมนูญ แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐก็ยึดแนวทางปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะพรก.ฉุกเฉิน "รศ.ดร.ยุทธพร" มองว่าจุดสมดุลในสถานการณ์ขณะนี้ ควรต้องพื้นที่พูดคุยเจรจากันมากกว่า เพราะแต่ละฝ่ายก็ตีความทางกฎหมายในมุมมองของตัวเอง ซึ่งที่แท้จริงควรเปิดพื้นที่การพูดคุย เพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างไรไม่ให้นำไปสู่ความรุนแรง
"ขณะที่ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมในสภาวะมีความรุนแรงเกิดขึ้นด้วยนั้น ทางผู้ชุมนุมต้องปรับยุทธศาสตร์และยุทธวิธีใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่การชุมนุมเป็นเรื่องของความรุนแรง จนเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย จนไปบดบังเนื้อหาสาระ หรือข้อเรียกร้องในการชุมนุมนั้นหายไปด้วย แต่ฝ่ายรัฐเองก็ต้องตระหนักด้วยว่า รัฐมีหน้าที่ดูแลคนทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่เห็นด้วยกับรัฐหรือไม่ เพื่อไม่ให้มีการสูญเสียเกิดขึ้น"รศ.ดร.ยุทธพร ระบุ
"รศ.ดร.ยุทธพร" ยังเสนอแนวทางสันติวิธีตั้งแต่ "ระยะสั้น" ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องรอดูว่าวันที่ 11 มี.ค.จะมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร รวมถึงการพิจารณาในส่วนของวุฒิสภา (ส.ว.) ดังนั้นการเห็นผลในระยะสั้นจึงอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วน "ระยะกลาง" ต้องพูดคุยถึงการสร้างกติกาและข้อตกลงร่วมกันของคนในสังคมในเรื่องสันติวิธี การสร้างพื้นที่ปลอดภัยต่างๆ รวมถึงการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างสังคม การเมือง และประชาธิปไตย
แต่หากปัญหาในระยะแรกและระยะที่สองไม่ได้รับการแก้ไขโดยเฉพาะในเรื่องรัฐธรรมนูญ ปัญหาจะบานปลายไปสู่ "ระยะยาว" ต่อไปได้.